ผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่
นงลักษณ์ เมธากาญจนศักดิ์, มนตรี คำรังษี*
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการตนเองต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยของเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ โดยใช้แนวคิดการจัดการตนเอง (Self-management) มาเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ ที่มารับบริการคลินิกเบาหวานโรงพยาบาลสังขะ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 36 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) เพื่อเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 18 คน กลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการจัดการตนเอง ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วย และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดของสมาคมควบคุมโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนของสหรัฐอเมริกา (DCCT) ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน นำมาวิเคราะห์หาค่าความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) เท่ากับ 0.91 และเครื่องมือที่ใช้การทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการจัดการตนเอง คู่มือการจัดการตนเอง คู่มือการบันทึกการจัดการตนเอง ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปในการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในการทดลอง คือ Paired t-test และ Independent t-test
                ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ของกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของระดับ FBS และค่าเฉลี่ยของระดับ HbA1c ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมและต่ำกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ของกลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3)ภายหลังทดลองพบว่า คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ทั้งสองกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน สรุปได้ว่า โปรแกรมการจัดการตนเองมีประสิทธิภาพต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานได้
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลสกลนคร ปี 2556, January-April ปีที่: 16 ฉบับที่ 1 หน้า 43-54
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ระดับน้ำตาลในเลือด, คุณภาพชี่วิต, โปรแกรมการจัดการตนเอง, Sefl-management program, Blood sugar control