ผลการปรับความคิดทางโทรศัพท์ร่วมกับจิตบำบัดรายบุคคลในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
อุ่นจิตร คุณารักษ์
Somdet Chaopraya Institute of Psychiatry
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการปรับความคิดทางโทรศัพท์ร่วมกับจิตบำบัดรายบุคคลต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วัสดุและวิธีการ: กลุ่มตัวอย่างคือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าที่มีภาวะซึมเศร้าระดับน้อยถึงปานกลางที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอก สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 44 คน สุ่มอย่างง่ายตามลำดับเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 22 คน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลรักษาตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับการปรับความคิดทางโทรศัพท์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ร่วมกับจิตบำบัดรายบุคคลรวม 10 ครั้ง เครื่องมือคือแบบวัดภาวะซึมเศร้าฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติพรรณนา และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของคะแนนภาวะซึมเศร้าก่อนและหลังจบโปรแกรมและในระยะติดตามเดือนที่ 3, 6, 9 ด้วย multivatiate analysis
ผล: เมื่อสิ้นสุดการศึกษา กลุ่มทดลองมี 17 คน กลุ่มควบคุม 16 คน กลุ่มทดลองส่วนใหญ่เพศหญิงอายุเฉลี่ย 35.1 ปี สถานภาพสมรสคู่ อาชีพรับจ้างและเกษตรกร ส่วนกลุ่มควบคุมเพศชายและหญิงสัดส่วนเท่ากัน อายุเฉลี่ย 45.3 ปี สถานภาพสมรสคู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ไม่มีประวัติซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในครอบครัว ก่อนได้รับโปรแกรมคะแนนภาวะซึมเศร้าเฉลี่ยในกลุ่มทดลองใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมในระดับปานกลาง ทั้งสองกลุ่มมีภาวะซึมเศร้าลดลงตามเวลา กลุ่มทดลองมีแนวโน้มค่าเฉลี่ยคะแนนซึมเศร้าลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมแต่ไม่มีนัยสำคัญ
สรุป: การบำบัดด้วยการปรับความคิดทางโทรศัพท์ร่วมกับจิตบำบัดรายบุคคลช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้เมื่อให้ร่วมไปกับการรักษาตามปกติ โดยมีแนวโน้มคะแนนภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าการรักษาตามปกติ
ที่มา
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปี 2556, May ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 88-97
คำสำคัญ
cognitive therapy, depressive disorder, individual psychotherapy, telephone, การปรับความคิด, จิตบำบัดรายบุคคล, ซึมเศร้า, โทรศัพท์