ต้นทุน-ประสิทธิผลของ Alendronate (ยาสามัญ) และ Risedronate (ยาต้นแบบ) สำหรับการป้องกันแบบปฐมภูมิของกระดูกหักในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีปัจจัยเสี่ยง
ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช*, บัญญัติ สิทธิธัญกิจ, ภาณุมาศ ภูมาศ, สุรศักดิ์ ไชยสงค์, สุรัชดา กองศรี, อรอนงค์ วลีขจรเลิศ
Clinical Pharmacy Research Unit, Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้วิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของ Alendronate (ที่เป็นยาชื่อสามัญ) และ Risedronate (ที่เป็นยาต้นแบบ) ในการป้องกันแบบปฐมภูมิของการเกิดกระดูกหักในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ข้ออักเสบรูห์มาตอยด์, ใช้ Glucocorticoids, มีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก, ดื่มสุราและสูบบุหรี่ ใน 8 กลุ่มอายุ (45, 50, 55, 60, 65, 70, 75 และ 80 ปีขึ้นไป) ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ โดยใช้ตัวแบบมาร์คอฟซึ่งประกอบด้วย 9 สถานะสุขภาพ ในกรอบระยะเวลาการให้ยา 5 ปี ความร่วมมือในการใช้ยาร้อยละ 50 และประสิทธิผลภายหลังหยุดยาลดลงแบบเส้นตรง ข้อมูลพื้นฐานของความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักและการเสียชีวิตใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลประสิทธิผลทางคลินิก ต้นทุนและอรรถประโยชน์ได้จากการทบทวนวรรณกรรม และปรับเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักกรณีมีปัจจัยเสี่ยงด้วยค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ระหว่างการมีและไม่มีปัจจัยเสี่ยง โดยคำนวณจากตัวแบบ FRAX® ภายใต้เงื่อนไขค่าคะแนน t ของมวลกระดูกเป็น -2.5 เท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และมีดัชนีมวลกาย 24 กก./ม2 พบว่า สำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือนทั่วไป อัตราส่วนต้นทุนต่อประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental cost-effectiveness ratio, ICER) ของการใช้ Alendronate และ Risedronate มีค่า 801,353 – 7,012,743 บาท และ 1,727,023 – 13,967,461 บาทต่อปีสุขภาวะ (quality-adjusted life year, QALY) ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากร (per capita gross domestic product, GDP) การใช้ Alendronate จะมีความคุ้มค่าในหญิงอายุ 75 ปีขึ้นไปซึ่งมีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก (ICER, 202,089 บาทต่อปีสุขภาวะ) หรือมีการใช้ Glucocorticoids (ICER, 473,821 บาทต่อปีสุขภาวะ) การใช้ Risedronate จะมีความคุ้มค่าที่ระดับ 3 เท่าของ GDP สำหรับหญิงอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประวัติบิดา/มารดากระดูกสะโพกหัก (ICER, 399,114 บาทต่อปีสุขภาวะ)
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2556, January-March ปีที่: 7 ฉบับที่ 1 หน้า 9-23
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, osteoporosis, Postmenopausal women, กระดูกหัก, ปัจจัยเสี่ยง, Bisphosphonates, Clinical risk factors, Fractures, กระดูกพรุน, ยา bisphosphonates, หญิงวัยหมดประจำเดือน