ผลของการบริบาลทางเภสัชกรรมเชิงลึกต่อคุณภาพชีวิตและผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมได้
นพวรรณ ศิริพรรณ*, ปาริโมก เกิดจันทึก, สุณี เลิศสินอุดม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-2722234 โทรสาร 043-2722254 e-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: คลินิกโรคหืด โรงพยาบาลบ้านไผ่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 แต่ก็ยังคงพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ ดังนั้นการหาแนวทางอื่นในการให้บริการเพิ่มเติมในคลินิกโรคหืดของโรงพยาบาลบ้านไผ่จึงเป็นสิ่งจำเป็น
วัตถุประสงค์: ประเมินคุณภาพชีวิต และผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยโรคหืดก่อนและหลังการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมเชิงลึกในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้
วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง ซึ่งได้ดำเนินการในผู้ป่วยโรคหืดอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีระดับการควบคุมโรคตาม GINA Guildelines 2009 อยู่ในระดับที่ไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาจะได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมเชิงลึก โดยกลยุทธ์ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเฉพาะราย วัดผลลัพธ์ทางคลินิกทุกๆ 2 เดือน และผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้จะได้รับการติดตามดูแลที่บ้านโดยทีมสหสาขาวิชาชีพภายใน 7 วัน ดำเนินการศึกษาเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน วัดคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคหืดแบบย่อ ฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้มีจำนวน 46 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 58.7) และไม่สูบบุหรี่ (ร้อยละ 71.7) อายุเฉลี่ย 59.41±10.35 ปี หลังให้การบริบาลทางเภสัชกรรมเชิงลึก ผู้ป่วยมีคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกๆ มิติ (p < 0.001) และคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 4.00±0.95 เป็น 5.04±0.88 คะแนน (p <0.001) ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้มีจำนวนลดลงจาก 46 ราย (ร้อยละ 100) เป็น 19 ราย (ร้อยละ41.3) (p<0.001) สมรรถภาพปอดเฉลี่ยโดยวัดจากค่า PEFR เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.54±23.32 เป็น 66.16±24.29 (p < 0.001) จำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาฉุกเฉินด้วยอาการหอบ และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคหืดมีแนวโน้มลดลง (p = 0.439 และ p = 0.317 ตามลำดับ)
สรุปผลการศึกษา: การบริบาลทางเภสัชกรรมเชิงลึกสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการโรคหืดได้ มีคุณภาพชีวิตและผลลัพธ์ทางคลินิกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2556, May-August ปีที่: 9 ฉบับที่ 2 หน้า 12-22
คำสำคัญ
Asthma, โรคหืด, เภสัชกร, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, Pharmacist’s intervention