การเปรียบเทียบคุณภาพของภาพอัลตราซาวด์ระหว่างการใช้เจลอัลตราซาวด์กับน้ำมันมะกอกเป็นสื่อนำเสียง
สุชยา ลือวรรณ*, เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ, ธีระ ทองสง, ธีระ ทองสง, สุชยา ลือวรรณ, เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพของภาพอัลตราซาวด์จากการใช้สื่อนำเสียงที่แตกต่างกันระหว่างการใช้เจลอัลตราซาวด์และน้ำมันมะกอก รูปแบบการศึกษา: การศึกษาวิจัยเชิงทดลองควบคุมแบบสุ่ม วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยหรือสตรีมีครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติกรรมและนรีเวชกรรมที่มารับบริการ ณ ห้องตรวจอัลตราซาวด์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ทุกรายจะได้ทำอัลตราซาวด์โดยใช้สื่อนำเสียงทั้งสองชนิด โดยทำการสุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มการศึกษา กลุ่มที่ 1 ใช้เจลอัลตราซาวด์ เป็นสื่อนำเสียงก่อนใช้น้ำมันมะกอก และ กลุ่มที่ 2 ใช้น้ำมันมะกอกเป็นสื่อนำเสียงก่อนการใช้เจลอัลตราซาวด์ ในการตรวจภาพอัลตราซาวด์จะถูกบันทึกไว้เป็นวิดีโอคลิป ซึ่งในการตรวจทั้งสองครั้งจะทำในระนาบเดียวกัน ภาพอัลตราซาวด์ทั้งหมดจะถูกประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญเพียงท่านเดียว ซึ่งไม่ทราบว่าใช้สื่อนำเสียงชนิดใด โดยอาศัยเกณฑ์ดังนี้ คะแนน 0ไม่เป็นที่น่าพอใจ, 1 พอใช้, 2 ดี, 3 ดีมาก ผลการศึกษา: ในสตรี 346 ราย (692 วิดีโอคลิป) ในกลุ่มที่ใช้เจลอัลตราซาวด์ พบว่าคุณภาพของภาพอัลตราซาวด์ที่ได้คะแนน ไม่เป็นที่น่าพอใจ, พอใช้, ดี และดีมาก เป็น 0, 7, 182, 157 ราย ส่วนในกลุ่มที่ใช้น้ำมันมะกอก ได้ 0, 9, 190, 147 ราย ตามลำดับ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของคุณภาพของภาพอัลตราซาวด์ในทั้งสองกลุ่ม สรุป: คุณภาพของภาพอัลตราซาวด์จากการใช้น้ำมันมะกอกเป็นสื่อนำเสียง ใกล้เคียงกับการใช้เจลอัลตราซาวด์ ดังนั้นน้ำมันมะกอกจึงสามารถเป็นสื่อนำเสียงในการทำอัลตราซาวด์ ซึ่งมีราคาถูก และใช้ง่าย สะดวกต่อการเช็ดทำความสะอาด และมีกลิ่นเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้มารับบริการอัลตราซาวด์
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2550, April ปีที่: 90 ฉบับที่ 4 หน้า 624-627
คำสำคัญ
Olive oil, Sound media, Ultrasound gel