ต้นทุน-ประสิทธิผลของ Alendronate และ Risedronate สำหรับป้องกันกระดูกหักแบบปฐมภูมิในหญิงวัยหมดประจำเดือน
ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช*, บัญญัติ สิทธิธัญกิจ, สุรศักดิ์ ไชยสงค์, อรอนงค์ วลีขจรเลิศคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150 โทร./แฟกซ์: 043 754360 อีเมล์: [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้ยา Alendronate ในราคาของยาชื่อสามัญ และ Risedronate ในราคาของยาต้นแบบ โดยเปรียบเทียบกับการรักษาตามมาตรฐานปกติเพื่อป้องกันกระดูกหักแบบปฐมภูมิในหญิงวัยหมดประจำเดือนภายใต้มุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ
วิธีการศึกษา: ทำการประเมินต้นทุนและประเมินผลใน 8 กลุ่มอายุ (45, 50, 60, 65, 70, 75 และ 80 ปีขึ้นไป) โดยใช้ตัวแบบมาร์คอฟที่ประกอบด้วย 9 สถานะสุขภาพ ในกรอบระยะเวลาวิเคราะห์ 10 ปี ระยะเวลาการให้ยา 5 ปี ความร่วมมือในการใช้ยาร้อยละ 50 และหลังจากหยุดยาแล้วประสิทธิผลของยาลดลงแบบเส้นตรง โดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ประสิทธิผลทางคลินิก ต้นทุน และอรรถประโยชน์จากการทบทวนวรรณกรรม วิเคราะห์ความไวทั้งแบบทีละตัวแปรและแบบอาศัยความน่าจะเป็น
ผลการศึกษา: อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental cost-effectiveness ratio, ICER) ของการใช้ Alendronate และ Risedronate มีค่าสูงกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว โดยอยู่ระหว่าง 801,353 – 7,012,743 บาท/ปีสุขภาวะ และ 1,727,023 – 13,967,461 บาท/ปีสุขภาวะ ตามลำดับ หากลดราคา Alendronate ในราคายาชื่อสามัญลงร้อยละ 60 และ Risedronate ในราคายาต้นแบบลงร้อยละ 80 จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไป
สรุปผล: การใช้ยา Alendronate และ Risedronate ในหญิงวัยหมดประจำเดือนทุกกลุ่มอายุไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการป้องกันกระดูกหักแบบปฐมภูมิ ควรมีการศึกษาต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้ยาดังกล่าวเพื่อป้องกันกระดูกหักแบบทุติยภูมิต่อไป
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2556, May-August
ปีที่: 9 ฉบับที่ 2 หน้า 23-36
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, osteoporosis, Postmenopausal women, กระดูกหัก, Bisphosphonates, Fractures, กระดูกพรุน, ยา bisphosphonates, หญิงวัยหมดประจำเดือน