ผลของสมรรถภาพทางกายและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุภายหลังการออกกำลังกายแบบชี่กง
นงนุช พลบูรณ์*, ศิริพร กลางโคกกรวด, หทัยชนก หมากผิน
สาขาวิชากายภาพบำบัด, คณะสหเวชศาสตร์, มหาวิทยาลัยคริสเตียน
บทคัดย่อ
                ปี 2553 ประเทศไทยเริ่มมีจำนวนประชากรของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.36 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัยสูงอายุจัดเป็นวัยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ลักษณะและพัฒนาการในวันนี้จะตรงข้ามกับวัยเด็ก คือหน้าที่การทำงานของอวัยวะและโครงสร้างต่างๆ มีประสิทธิภาพลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้ รูปร่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปคือ หลังโก่งงอ หัวเข่าและสะโพกงอเล็กน้อย ทำให้สัดส่วนของร่างกายลดลง จมูกกว้างขึ้น หูยาวขึ้น ไหล่แคบลง ทรวงอกมีความลึกเพิ่มมากขึ้น กระดูกเชิงกรานกว้างขึ้น ความลึกของช่องท้องเพิ่มขึ้น และมีน้ำหนักตัวลดลงส่งผลให้สมรรถภาพทางกายและคุณภาพชีวิตลดลงด้วย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสมรรถภาพทางกายและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุก่อนและหลังการออกกำลังกายแบบชี่กง ซึ่งศึกษาในผู้สูงอายุ จำนวน 30 คน อายุระหว่าง 60-75 ปี ซึ่งวัดค่า Berg balance scale, Chair sit and reach test, Arm curl test, Six minute walk test และ Quality of life ออกกำลังกายแบบชี่กงอย่างต่อเนื่อง 30 นาทีต่อครั้ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ย Berg balance scale, Chair sit and reach test, Arm curl test, Six minute walk test และ Quality of life มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และ Back scratch test ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) สรุปผลการศึกษา การออกกำลังกายแบบชี่กงช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางกายในภาพรวมและคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุได้
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน ปี 2555, September-December ปีที่: 18 ฉบับที่ 3 หน้า 389-398