เปรียบเทียบการไหลเวียนเลือดดำในผู้ป่วยวิกฤติที่ได้รับการนวดกดจุดฝ่าเท้าและการใช้เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ
ประณีต ส่งวัฒนา*, วิภา แซ่เซี้ย, สุพัตรา อุปนิสากร
ภาควิช่าการพยาบาลศัลยศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสุ่มข้ามกลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำที่ขาหนีบระหว่างการนวดกดจุดฝ่าเท้ากับการใช้เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยวิกฤต จำนวน 50 ราย เลือกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง สุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับการทดลองสองใน 4 แบบ โดยได้รับการนวดกดจุดฝ่าเท้า คือ วันละ 4 ครั้ง วันละ 3 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง หรือ ใช้เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ วัดความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำ ระยะเวลาที่สามารถคงความเร็วสูงสุด และระยะเวลาที่ความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำที่ขาหนีบกลับสู่ค่าเดิม ด้วยเครื่องฟังเสียงสะท้อนการไหลของเลือด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวน
                ผลการศึกษา หลังการทดลองทั้ง 4 แบบ หลังนวดกดจุดฝ่าเท้าวันละ 2 ครั้ง 3 ครั้ง 4 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับหลังใช้เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ พบว่า 1) ความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความแตกต่างกัน 2) ระยะเวลาของความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำสูงสุดไม่มีความแตกต่างกัน 3) ระยะเวลาเฉลี่ยของความเร็วในการไหลเวียนกลับของเลือดดำกลับสู่ค่าเดิม ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การนวดกดจุดฝ่าเท้าจึงเป็นอีกทางหนึ่งในการส่งเสริมการไหลเวียนเลือดดำในผู้ป่วยวิกฤต และเสนอแนะให้มีการนวดกดจุดฝ่าเท้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพียงพอที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการไหลเวียนของเลือดดำได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกรณีที่ไม่มีเครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2556, January-March ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 26-36
คำสำคัญ
Reflexology, Intermittent pneumatic calf compression, Venous blood flow velocity, Critical ill Patients, การนวดกดจุดฝ่าเท้า, เครื่องบีบไล่เลือดเป็นจังหวะ, ความเร็วในการไหวเวียนของเลือดดำ, ผู้ป่วยวิกฤต