ผลของโปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อค่าน้ำตาลสะสม
ภาวนา กีรติยุตวงศ์, ยุพิน เมืองศิริ*, วัลภา คุณทรงเกียรติ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังจันทร์ จังหวัดระยอง
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยเบาหวานต่อค่าน้ำตาลสะสมหลังการทดลองเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านวังจันทร์ จำนวน 80 ราย สุ่มตัวอย่างอย่างง่ายเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 40 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นตามแนวคิดการจัดการตนเองของแคนเฟอร์และเกร์ลิคส์ (Kanfer & Gaelick, 1991) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมส่งเสริมความสามารถในการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน คู่มือการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน แบบบันทึกกราฟแสดงแนวโน้มระดับน้ำตาลในเลือด แบบบันทึกการติดตามตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยโรคเบาหวาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำสองทาง
                ผลการวิจัยพบว่า
  1. ค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมในกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F 1.79 = 11.73, p < .01)
  2. ค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมของกลุ่มทดลองในระยะก่อนทดลอง เดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 มีอย่างน้อย 1 คู่ ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F2,156 = 29.62, p < .001)
  3. กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานและช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( F 2,156 = 96.05, p < .001)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีผลต่อค่าน้ำตาลสะสม ดังนั้น พยาบาลควรนำโปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานไปใช้ในการให้บริการผู้ป่วยในคลินิกเบาหวานต่อไป
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2556, January-March ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 37-51
คำสำคัญ
การจัดการตนเอง, ค่าน้ำตาลสะสม, Promoting competency program for self-management, Glycosylated hemoglobin A1C, โปรแกรมส่งเสริมความสามารถการจัดการตนเอง, ผู้ป่วยโรคเบวหวาน