ประสบการณ์ 2 ปี ของการใช้ Tranexamic acid ในการลดการสูญเสียเลือดระหว่างการคลอด และหลังคลอดในการคลอดทางช่องคลอดและผ่าคัดคลอดทางหน้าท้อง
ประการณ์ องอาจบุญ
กลุ่มงานสต-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ tranexamic acid ในการลดการสูญเสียเลือดระหว่างการคลอดและหลังคลอดในกลุ่มที่คลอดทางช่องคลอดและกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องและศึกษาผลการใช้ tranexamic acid กับข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม ในมารดาตั้งครรภ์ที่มาคลอดในโรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 จำนวน 800 คน ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่คลอดทางช่องคลอด จำนวน 500 คน และมารดาที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องจำนวน 300 คน  ในแต่ละกลุ่มตัวอย่าง สุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา tranxamic acid และกลุ่มที่ไม่ได้รับยา tranexamic acid เปรียบเทียบปริมาณการสูญเสียเลือดขณะทำคลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องและที่ 2 ชั่วโมงหลังคลอดหรือหลังผ่าตัด รวมทั้งปริมาณเลือดในแต่ละข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องและภาวะแทรกซ้อน ผลข้างเคียงของการใช้ยา tranexamic acid วิเคราะห์ข้อมูลด้วย Student t-test, Wilcoxon rank-sum test, exact probability test และการวิเคราะห์ถดถอยแบบ Guassian กำหนดค่าระดับนัยสำคัญเท่ากับ 0.05
ผลการศึกษา: ในระหว่างการทำหัตถการการคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง กลุ่มที่ได้รับ tranexamic acid มีปริมาณการสูญเสียเลือดเฉลี่ยลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ tranexamic acid คือในการคลอดทางช่องคลอดลดลง 19.8 มิลลิลิตร (P = 0.009) และการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องลดลง 122.0 มิลลิลิตร (P <0.001) ใน 2 ชั่วโมงหลังทำหัตถการ กลุ่มที่ได้รับ tranexamic acid มีปริมาณการสูญเสียเลือดเฉลี่ยลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ tranexamic acid คือในการคลอดทางช่องคลอดลดลง 50.4 มิลลิลิตร (P<0.001) และการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องลดลง 31.3 มิลลิลิตร (P = 0.002) สำหรับข้อบ่งชี้จาก CPD และ placenta abnormal ในกลุ่มที่ได้รับ tranexamic acid ปริมาณการสูญเสียเลือดขณะทำการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องลดลงมากกว่าในข้อบ่งชี้อื่นคือ ลดลง 96.6 มิลลิลิตร (P <0.001) และ 550.8 มิลลิลิตร (P < 0.001) ตามลำดับ
สรุปและข้อเสนอแนะ: การใช้ tranexamic acid สามารถลดปริมาณการสูญเสียเลือดได้ทั้งในการคลอดทางช่องคลอดและการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง มีความปลอดภัยไม่พบผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของการใช้ยา มีข้อเสนอแนะว่าการใช้ tranexamic acid มีประโยชน์ในการลดการสูญเสียเลือดระหว่างการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องที่มีข้อบ่งชี้จาก CPD และ placenta complication ดีกว่าข้อบ่งชี้อื่นๆ
ที่มา
เชียงรายเวชสาร ปี 2556, ปีที่: 5 ฉบับที่ 1 หน้า 45-57
คำสำคัญ
Cesarean section, Tranexamic acid, การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, Blood loss during and after delivery, vaginal delivery, การลดการสูญเสียเลือดระหว่างการคลอดและหลังคลอด, การคลอดทางช่องคลอด