ผลการใช้กิจกรรมการบำบัดตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจเพื่อหยุดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ในเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดบางเกลือ
วิชัย นิยมรัตน์*, กนกศรี จาดเงิน
เวชกรรมครอบครัว องค์กรแพทย์ โรงพยาบาลบางปะกง
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมการบำบัดตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจเพื่อหยุดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ในเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและประเมินผลในด้านพฤติกรรมการหยุดสูบบุหรี่ และระยะเวลาในการหยุดสูบบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนวัดบางเกลือ ปีการศึกษา 2552 ที่สูบบุหรี่ต่อเนื่อง 1 ปี มีการติดนิโคตินระดับปานกลาง จากการทำแบบประเมินการติดนิโคติน มีค่าคะแนนตั้งแต่ 3 คะแนนขึ้นไป และเป็นผู้ที่มีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามแนวคิดของ The Transtheoretical Model อยู่ในระยะตัดสินใจหยุดสูบบุหรี่ จำนวน 20 คน สุ่มอย่างง่ายเข้าเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน ทำการทดสอบในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และติดตามผล 1 เดือน โดยใช้กิจกรรมกระบวนการบำบัดตามแนวคิดของ The Transteoretical Model ในกลุ่มทดลองและรูปแบบการให้การปรึกษาในรูปแบบงานประจำในกลุ่มควบคุม จำนวน 10 ครั้ง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Mann-Whitney U Test
                ผลการวิจัยพบว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยพบว่ากลุ่มทดลองสามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ของการบำบัดและสามารถคงพฤติกรรมการหยุดสูบบุหรี่ได้จนกระทั่งเข้าสู่ระยะติดตามผล 30 วัน หลังสิ้นสุดโปรแกรม
 
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2555, May-August ปีที่: 2 ฉบับที่ 4 หน้า 29-39
คำสำคัญ
The Transtheoretical model program for quit smoking, quit smoking, การบำบัดพฤติกรรมตามแนวคิดการสร้างแรงจูงใจ, การหยุดสูบบุหรี่