การบำบัดเสริมด้วยการสวดมนต์แปลในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาด้วยยา Fluoxetine
เวทิส ประทุมศรีกลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลพุทธโสธร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิภาพของการสวดมนต์แปลมาเสริมกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา fluoxetine
วิธีการศึกษา: เป็น single-blind randomized controlled trial study กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับบริการที่โรงพยาบาลพุทธโสธร ทำการสุ่มเลือกแบบจับฉลาก กลุ่มทดลองได้รับยา fluxetine ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับการสวดมนต์แปล กลุ่มควบคุมได้รับยา fluoxetine ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อวันอย่างเดียว เครื่องมือวัดผล ประกอบด้วย 1) แบบวัดอาการซึมเศร้า HAM-D 17-item ฉบับภาษาไทย 2)บทสวดมนต์แปลพร้อมเทปหรือซีดี 3) แบบประเมินติดตามความร่วมมือในการสวดมนต์ ใช้หลักการวิเคราะห์สถิติ last observation carried forward (LOCF) กับข้อมูลกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากการวิจัยก่อนสิ้นสุดโครงการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ t-test กำหนดค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p = 0.05
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างมีทั้งสิ้น 59 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 27 ราย กลุ่มควบคุม 32 ราย เมื่อสิ้นสุดการทดลองที่สัปดาห์ที่ 4 จำนวนกลุ่มทดลองมี 8 ราย และกลุ่มควบคุมมี 15 ราย จากการวิเคราะห์ผลไม่พบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยจากแบบวัดอาการซึมเศร้า HAM-D 17-item หลังการทดลองที่เปลี่ยนไประหว่างสองกลุ่ม แต่หากทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย คะแนน HAM-D ภายในกลุ่มระหว่างก่อนการทดลองกับสัปดาห์ที่ 1, 2 และ 4 พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การสวดมนต์แปลร่วมกับการรับประทานยา fluoxetine ทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ไม่แตกต่างกันจากการรับประทานยา fluoxetine เพียงอย่างเดียว
ที่มา
วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2556, January-March
ปีที่: 58 ฉบับที่ 1 หน้า 67-74
คำสำคัญ
Fluoxetine, Major depressive disorder, โรคซึมเศร้า, praying, สวดมนต์แปล