ผลของการเย็บแผลด้วยเอ็นตกปลาเปรียบเทียบกับไหมเย็บแผลแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลสอง จังหวัดแพร่
ปาริชาต วันละ*, อุไรวรรณ ทุ่งกาย, รัตนาภรณ์ มั่งมูล
กลุ่มงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลสอง จังหวัดแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: การใช้ไหมเป็นวัสดุเย็บแผล มีต้นทุนสูง มีโอกาสขาดได้ มีผลการวิจัยรายงานว่าแผลที่เย็บด้วยเอ็นตกปลา มีการติดเชื้อน้อยกว่า นอกจากนั้นยังมีทุนต่ำกว่า และมีความคงทนสูง
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลของการเย็บแผล ระหว่างการใช้เอ็นตกปลาและไหมเย็บแผล
วิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยที่มีบาดแผล ที่มารับการรักษาที่งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลสอง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกันยายน พ.ศ.2554 จำนวน 172 ราย แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยสุ่มจากซองปิดผนึก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกการเย็บแผล และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ด้วย t-test หรือ Wilcoxon rank-sum test และ exact probability test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้เอ็นตกปลาเย็บแผล 74 ราย ใช้ไหมเย็บแผล 98 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุใกล้เคียงกัน คืออายุเฉลี่ย 39 และ 42 ปี (p = 0.419) มีประวัติการดื่มสุราไม่แตกต่างกัน (p = 0.759) ผู้ป่วยทุกรายได้รับการเย็บแผลภายใน 6 ชั่วโมงแรก ของการเกิดบาดแผล (p = 1.000) เป็นแผลปนเปื้อน ประมาณ 3 ใน 4 (p = 0.863) โดยไม่มีความแตกต่างกันในด้าน จำนวน stitch การใช้ยาชา ผู้ทำหัตถการ การใช้ยาปฏิชีวนะ วิธีการเย็บแผล และขนาดของแผลหลังจากการได้รับการดูแลแผล 7 วัน ผู้ป่วยที่ใช้เอ็นตกปลาและไหมเย็บแผล มีการหายของแผลใกล้เคียงกัน (p = 1.000) คือทั้งสองกลุ่มมีแผลติดดี (ร้อยละ 98.7 และ 97.0) ในส่วนที่แผลมีปัญหาคือแผลแยกซึ่งพบในสัดส่วนที่น้อยและไม่แตกต่างกัน (ร้อยละ 1.4 และ 1.0) ในกลุ่มใช้ไหมเย็บแผล มีแผลอักเสบ ติดเชื้อ 2 ราย แต่ไม่พบปัญหาดังกล่าว ในกลุ่มที่ใช้เอ็นตกปลา ผู้เย็บแผลพอใจการใช้เอ็นตกปลา มากกว่าการใช้ไหมเย็บแผลเล็กน้อย ไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ (p = 0.231) คือมีความพอใจในระดับมาก และมากที่สุด (ร้อยละ 98.6 และ 97.9)
สรุป: การเย็บแผลในแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถใช้เอ็นตกปลาแทนไหม เนื่องจากไม่เพิ่มการติดเชื้อมีความคงทนและลดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าไหม ไม่พบการขาดของเอ็นตกปลาขณะเย็บแผล ผู้เย็บมีความพึงพอใจไม่แตกต่างจากการใช้ไหม
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลแพร่ ปี 2555, January-June ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 74-79