การเปรียบเทียบอัตราการยึดติดของเรซินผนึกหลุมและร่องฟันระหว่างชนิดพรีโวแคร์ร่วมกับสารทำให้แห้งและชนิดอนไซส์ในการศึกษาภาคสนาม
บุณฑริกา สุวรรณเวโช, พรพรรณ อัศวาณิชย์*, สุภาภรณ์ จงวิศาลภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความเท่าเทียมของอัตราการยึดติดของสารผนึกและร่องฟันชนิดเรซิน “พรีโวแคร์” (จุฬาลงกรณ์ ประเทศไทย) ร่วมกับสารทำให้แห้ง กับสารผนึกหลุมและร่องฟัน “คอนไซส์” (3M ESPE สหรัฐอเมริกา) ที่ช่วงระยะเวลา 36 เดือน ในการปฏิบัติงานภาคสนาม
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาในเด็กนักเรียนชาวไทยภูเขาที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี จำนวน 122 คน ในจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย โดยคัดเลือกฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งในขากรรไกรเดียวกันจำนวน 138 คู่ฟัน เพื่อจัดตัวอย่างเข้าศึกษาด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย จัดให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการผนึกหลุมและร่องฟันด้วยพรีโวแคร์ชนิดขุ่นร่วมกับสารทำให้แห้งภายหลังการปรับสภาพผิวเคลือบฟันด้วยกรดและฟันอีกข้างได้รับการผนึกหลุมและร่องฟันด้วยคอนไซส์การผนึกหลุ่มร่องฟัน ทำโดยทันตแพทย์สำหรับเด็ก 3 คน โดยใช้เก้าอี้สนาม ติดตามผลการยึดติดของวัสดุและการเกิดฟันผุโดยทันตแพทย์อีกคนที่ระยะเวลา 6 12 24 และ 36 เดือน นำผลการวิจัยมาทดสอบทางสถิติด้วยโปรแกรมเอสพีเอสเอส (เวอร์ชั่น 11) และสตราต้า (เวอร์ชั่น 7) เพื่อทดสอบความเท่าเทียมกันของสารทั้งสองชนิด โดยยอมรับความแตกต่างของอัตราการยึดติดของสารทั้งสองชนิดที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ในระดับไม่เกินร้อยละ 10
ผลการศึกษา: ในระยะ 12 เดือน พบว่าฟันที่ได้รับการผนึกหลุมและร่องฟันด้วยพรีโวแคร์ร่วมกับสารทำให้แห้ง สารภายหลังการเตรียมผิวเคลือบฟันด้วยกรด และกลุ่มคอนไซส์มีอัตรายึดติดสมบูรณ์ร้อยละ 87.4 และ 85.8 ตามลำดับ ผลต่างเฉลี่ยของอัตรายึดติดของสารผนึกหลุมและร่องฟันทั้งสองมีค่าเป็นร้อยละ 1.6 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 อยู่ในช่วง -6.8, 9.9) เมื่อสิ้นสุดการทดลองที่ระยะเวลา 36 เดือน พบว่าในกลุ่มพรีโวแคร์ร่วมกับสารทำให้แห้งมีอัตราการยึดติดสมบูรณ์ลดลงเหลือร้อยละ 70.0 และในกลุ่มของคอนไซส์มีอัตราการยึดติดสมบูรณ์ลดลงเหลือร้อยละ 68.2 ผลต่างเฉลี่ยของอัตราการยึดติดของสารผนึกหลุมและร่องฟันทั้งสองมีค่าเป็นร้อยละ1.9 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 อยู่ในช่วง -9.0, 12.8) โดยพบรอยผุในกลุ่มคอนไซส์ 7 ซี่
สรุป: ในการศึกษาภาคสนามพบว่าเรซินผนึกหลุ่มและร่องฟันชนิดพรีโวแคร์ร่วมกับสารทำให้แห้งมีประสิทธิภาพในการยึดติดไม่ด้อยกว่าเรซินผนึกหลุมและร่องฟันชนิดคอนไซส์ที่ระยะเวลา 36 เดือน
ที่มา
วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2556, May-August
ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 65-74
คำสำคัญ
Retention, drying agent, field condition, resin sealant, การยึดติด, การศึกษาภาคสนาม, เรซินผนึกหลุมและร่องฟัน, สารทำให้แห้ง