การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล การควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานอย่างได้ผล ปีงบประมาณ 2553 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
อรสา ตั้งสายัณห์*, เพ็ญพักตร์ อุทิศ, สุคนธา คงศีล, สุขุม เจียมตนคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-sectional Study) และการศึกษาแบบย้อนหลัง (Retrospective Study) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาต้นทุน-ประสิทธิผลของการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน คลินิกเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 228 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) โดยการเก็บข้อมูลตามแบบบันทึกต้นทุนด้านผู้ให้บริการด้านการแพทย์ และเก็บข้อมูลต้นทุนด้านผู้รับบริการตามแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสถิติวิเคราะห์ เปรียบเทียบต้นทุนกับประสิทธิผลการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานเป็นสัดส่วน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Microsoft Office excel 2007 และ SPSS Version 10.1
ผลการวิจัยพบว่า ต้นทุน-ประสิทธิผลการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน ที่ตรวจ FBS สูงกว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจ HbA1c คือ 56,806.00 บาทต่อหนึ่งหน่วยประสิทธิผล และ16,896.79 บาทต่อหนึ่งหน่วยประสิทธิผล เมื่อพิจารณาต้นทุนรวมของผู้ป่วยเบาหวานพบว่ามีต้นทุนต่อหน่วยบริการของผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจ HbA1c สูงกว่าคนที่ตรวจ FBS คือ 4,731.10 บาท และ 3,976.42 บาท ส่วนด้านประสิทธิผลพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจ HbA1c มีค่าประสิทธิผลเท่ากับ 0.28 ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานที่ตรวจ FBS มีค่าประสิทธิผลเท่ากับ 0.07
การตรวจหาระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแต่ก็มีประสิทธิผลที่ดีกว่ากรณีใช้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เป็นตัววัด และยังสามารถบอกค่าระดับน้ำตาลในร่างกายได้แน่นอน โดยสามารถทำนายได้ว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีมากร้อยเพียงใดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว และลดความรุนแรงของโรค ซึ่งจะส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้านผู้ให้บริการและด้านผู้รับบริการ และน่าจะทำการศึกษาค้นคว้าด้านนี้ต่อไปในโรงพยาบาลอื่นๆ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการประเมินผลที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ที่มา
วารสารเกื้อการุณย์ ปี 2556, January-June
ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 72-85
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, โรคเบาหวาน, Blood glucose control, Diabetic Mellitus disease, การควบคุมระดับน้ำตาล