ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แรงสนับสนุนทางสังคม ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนผิวหนัง ชนิดทางเดินปัสสาวะ และคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยทำทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาว
ทิฆัมพร อิทธิพงษ์วัฒน์, สุพร สุนัยดุษฎีกุล*, อรพรรณ โตสิงห์, ธีระพล อมรเวชสุกิจคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700, e-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แรงสนับสนุนทางสังคม ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนผิวหนัง ชนิดทางเดินปัสสาวะ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทำทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาว
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวินิจฉัยเชิงบรรยายความสัมพันธ์
วิธีการดำเนินการวิจัย: คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มาตรวจตามนัดภายหลังผ่าตัดครั้งที่ 1 หรือครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 85 ราย จากโรงพยาบาลตติยภูมิ 3 แห่ง เครื่องมือรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยทำทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาว 3) ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง 4) แบบสัมภาษณ์แรงสนับสนุนทางสังคม 5) แบบสังเกตความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนผิวหนัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน และค่าสหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล
ผลการวิจัย: พบกลุ่มตัวอย่างที่ทำทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาวชนิด ileal conduit ร้อยละ 54.1 รองลงมาเป็นชนิด percutaneous nephrostomy ร้อยละ 32.9 มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และแรงสนับสนุนทางสังคมระดับปานกลาง ทางเดินปัสสาวะใหม่เป็นชนิดไม่มีสายร้อยละ 60 และมีสายร้อยละ 40 ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนผิวหนัง พบผิวหนังที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ระดับ 0) มากที่สุดร้อยละ 52.9 รองลงมาเป็นความรุนแรงระดับ 1 และ 2 ตามลำดับ และคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาวอยู่ในระดับปานกลาง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองกับคุณภาพชีวิตมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลาง (r = .34, p <.01) แรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตระดับต่ำ (r = .2, p < .05) ส่วนความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนผิวหนังและชนิดทางเดินปัสสาวะไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิต
สรุปและข้อเสนอแนะ: พยาบาลควรพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและแรงสนับสนุนทางสังคมเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยทำทางเดินปัสสาวะใหม่ระยะยาว
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2556, January-March
ปีที่: 1 ฉบับที่ 31 หน้า 29-37
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Social support, SELF-ESTEEM, ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง, แรงสนับสนุนทางสังคม, คุณภาพชี่วิต, Urinary diversion, skin complication, ภาวะแทรกซ้อนผิวหนัง, ผู้ป่วยทำทางเดินปัสสาวะใหม่