ผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
จิรภา พิจารณ์จันทร์*, นงลักษณ์ เมธากาญจนศักดิ์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่เข้ารับการรักษาในตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเพ็ญ จำนวน 30 ราย คัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย และแบ่งเข้าสู่กลุ่มทดลอง 15 ราย กลุ่มควบคุม 15 ราย กลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดทฤษฎีแบบจำลองส่งเสริมสุขภาพของเพนเดอร์ ใช้ระยะเวลาของโปแกรมเท่ากับ 12 สัปดาห์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และแบบสอบถามคุณภาพชีวิต ตรวจความตรงของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน หาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือด้วยสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคของแบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ได้เท่ากับ 0.76 และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตได้เท่ากับ 0.85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาค่าความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมบริโภคอาหารและคุณภาพชีวิต ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Independent t test และ Paired t test
ผลการวิจัย มีดังนี้
1.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมบริโภคอาหารสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม และสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลปกติ อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < 0.001
2.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม และสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการพยาบาลปกติ อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p <0.001
ดังนั้น ควรนำโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพไปใช้ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2555, May-August
ปีที่: 2 ฉบับที่ 20 หน้า 265-274
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, hypertension, ความดันโลหิตสูง, พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, Health promotion program, โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ, Eating behavior, คุณภาพชี่วิต