ตรวจประสิทธิผลด้านภาวะสุขภาพจิตและด้านคุณภาพชีวิตของการรักษาโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
จักราวุธ เผือกคง
โรงพยาบาลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาประสิทธิผลด้านภาวะสุขภาพจิตและด้านคุณภาพชีวิตของการรักษาโรคซึมเศร้าเฉพาะประชาชนกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเข้ารับบริการที่คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลหันคา จังหวัดชัยนาท ในปี 2555 เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบบริการทั้งในสถานพยาบาลและในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนางานด้านสุขภาพจิตชุมชน กลุ่มทดลองมีจำนวนทั้งหมด 28 คน เป็นกลุ่มที่ประเมินด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9Q แล้วมีคะแนนตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไป โดยจะได้รับการประเมินภาวะสุขภาพด้วยแบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น (Thai Mental Health Indicator-15 (TMHI-15) และประเมินคุณภาพชีวิตด้วยเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย แล้วมีการเปรียบเทียบคะแนนระหว่างก่อนและหลังการทดลอง ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 – ธันวาคม 2555 ผลการวิจัยพบว่าคะแนนการประเมินโรคซึมเศร้าด้วย 9 คำถาม (9Q) หลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -16.10, p < 0.01) คะแนน ดัชนีวัดคุณภาพจิตคนไทยฉบับสั้น หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 9.61, p < 0.01) คะแนนเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHO Quality of Life-BREFTHAI) หลังการทดลองสูงกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 12.98, p < 0.01) ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่ากระบวนการในการดูแลรักษาโรคซึมเศร้าตามแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้า สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Clinical Practice Guideline of Major Depressive Disorder for General Practitioner: CPG-MDD-GP) ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2553 มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้า และยังมีประสิทธิผลด้านภาวะสุขภาพจิตและด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกด้วย
 
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2555, September-December ปีที่: 3 ฉบับที่ 2 หน้า 276-283
คำสำคัญ
Depression, Quality of life, คุณภาพชีวิต, Mental health, โรคซึมเศร้า, คุณภาพชี่วิต, ภาวะสุขภาพจิต