คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กที่มีอาการนอนกรนและหายใจลำบากขณะนอนหลับหลังผ่าตัดทอลซิลและต่อมอดีนอยด์
ทวีวัฒน์ ศังขชาตกลุ่มงานโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับจะมีสาเหตุไม่กี่อย่าง ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้และการรักษาในเด็กจะง่ายกว่าผู้ใหญ่เพราะสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์โต เพียงผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์ออกก็หาย แต่นั่นเป็นผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นเช่นนั้น ยังมีผู้ป่วยเด็กอีกหลายคนผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมดีนอยด์ออก (ส่วนใหญ่มักจะผ่าออกทั้งสองอย่าง) อาการก็ไม่หาย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีต่อมทอลซิลขนาดปกติแต่นอนกรนหรือหายใจลำบากขณะนอนหลับ แสดงว่าเป็นมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อหย่อนยาน ไม่มีความตึงตัว อาจจะเกิดจากระบบประสาที่ควบคุมกล้ามเนื้อของช่องคอผิดปกติหรือเกิดจากโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติหรืออวัยวะในช่องคอ, ช่องปากใหญ่ผิดปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเป็นหลังกำเนิดก็ได้หรือเกิดจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
ในการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษาจากผู้ป่วยเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนหรือทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะนอนหลับและเข้ารับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์ที่กลุ่มงานโสต ศอ นาสิวิทยา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โดยใช้แบบสอบถาม OSA-18 เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิต เช่น การนอนกรน หายใจลำบาก พฤติกรรมผิดปกติ การศึกษาเล่าเรียน สติปัญญาว่าดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร การรักษาแบบนี้จะช่วยได้หรือไม่
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอนีนอยด์ที่กลุ่มงานโสต ศอ นาสิกวิทยา ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา มีคะแนนคุณภาพชีวิต OSA-18 ดีขึ้นกว่าก่อนการผ่าตัด (คือคะแนน Likert-type scales น้อยลง) แสดงว่าในผู้ป่วยเด็กการผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์ถือว่าเป็นการรักษาหลักอย่างหนึ่งของโรคทางเดินหายใจอุดกั้นหรือตีบแคบขณะนอนหลับ และการใช้แบบสอบถาม OSA-18 ในการวิจัยครั้งนี้ก็ยังสามารถใช้ในการประเมินผลได้ดี ค่าใช้จ่ายน้อยและสะดวกรวดเร็ว
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2555, September-December
ปีที่: 3 ฉบับที่ 2 หน้า 292-298