การวิจัยทดลองทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังโดยพยาบาลเวชปฏิบัติประจำหน่วยบริการปฐมภูมิเหมืองและหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี
สายรัตน์ นกน้อย*, น้ำค้าง จุลนพ, สุนันทา เลื่อมนิรันดร์เครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
บทคัดย่อ
ที่มา: ปัจจุบันประชาชนมีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตทั้งชนิดของอาหารที่รับประทาน การประกอบอาชีพ พยาบาลเป็นส่วนสำคัญซึ่งสามารถจัดรูปแบบบริการผู้ป่วยเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า พยาบาลมีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง สามารถส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยได้ดี ผู้ป่วยพึงพอใจ ผู้ป่วยมาติดตามตามนัดอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยการทดลองทางคลินิกที่ศึกษาประสิทธิผลของการดูแลโดยพยาบาลเทียบกับแพทย์
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยพยาบาลเวชปฏิบัติ ซึ่งได้รับการอบรมเพิ่มเพื่อดูแลผู้ป่วยเปรียบเทียบกับแพทย์จากการรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ไม่ซับซ้อนและอากาคงที่แล้ว
วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองโดยทำการคัดกรองผู้ที่มารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ 2 หน่วยบริการ คือ หน่วยบริการปฐมภูมิเหมืองและหน่วยบริการปฐมภูมิหนองข้างคอก อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ทำการคัดกรองอาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 127 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยวิธีการสุ่ม เป็นอาสาสมัครในกลุ่มทดลอง 62 คน และกลุ่มควบคุม 65 คน โดยกลุ่มทดลองรับการรักษากับพยาบาลเวชปฏิบัติและกลุ่มควบคุมรับการรักษากับแพทย์ประจำหน่วยบริการปฐมภูมิ ติดตามประเมินผลที่ระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือนระหว่างเดือนกรกฎาคม 2552 ถึง 31 มกราคม 2553
ผลการศึกษา: พบว่าเมื่อติดตามเป็นระยะเวลา 6 เดือนค่าความดันโลหิตซีสโตลิก (Systolic blood pressure) และค่าความดันโลหิต (Diastolic blood pressure) ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน โดย p-value เท่ากับ 0.801 และ 0.381 ตามลำดับ สำหรับกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน ค่า FBS และ HbA1C ในกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยแพทย์ และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value เท่ากับ 0.628 และ 0.593 ตามลำดับ)
สรุป: พยาบาลเวชปฏิบัติซึ่งได้รับการอบรมเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ซับซ้อน สามารถดูแลผู้ป่วยที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิผลไม่แตกต่างจากการดูแลโดยแพทย์ได้จากการติดตามนาน 6 เดือน
ที่มา
วารสารระบบบริการปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัว ปี 2554, July-October
ปีที่: 1 ฉบับที่ 3 หน้า 38-44