ผลลัพธ์และต้นทุนของการใช้ยา Colistin และ Tigecycline ในการรักษาโรคติดเชื้อแกรมลบ
ชุติมาภรณ์ ไชยสงค์, สุรศักดิ์ ไชยสงค์*คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 โทร./แฟกซ์: 043 754360 อีเมล์: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลลัพธ์และต้นทุนของการใช้ยา colistin และ tigecycline ในการรักษาโรคติดเชื้อแกรมลบ
วิธีการศึกษา: ทำการศึกษาแบบย้อนหลังในโรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ.2555 ศึกษาข้อมูลผลลัพธ์ทางคลินิกและต้นทุนค่ายาและต้นทุนรวมทั้งหมดในผู้ป่วยติดเชื้อแกรมลบที่ได้รับยา colistin หรือ tigecycline อย่างน้อย 2 ครั้ง วิเคราะห์ผลลัพธ์ของการรักษาด้วย multiple logistic regression และต้นทุนของการรักษาด้วย Mann-Whitney U test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 70 คน ได้รับยา colistin 40 คน และ tigecycline 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 63 ปี และติดเชื้อ Acinetobacter baumannii ลักษณะของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ยกเว้นการได้รับยาปฏิชีวนะอื่นร่วมด้วยที่พบในกลุ่ม colistin มากกว่า สัดส่วนของมีอาการดีขึ้นในกลุ่มที่ได้รับยา colistin และ tigecycline เท่ากับ 47.5% และ 33.3% ตามลำดับ (p = 0.234) เมื่อควบคุมอิทธิพลของตัวแปรเพศ อายุ การติดเชื้อในกระแสเลือด การเข้ารักษาใน ICU และการได้รับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นร่วมแล้วพบว่า การที่ได้รับยา colistin มีโอกาสทำให้อัตราการมีอาการดีขึ้นไม่แตกต่างจากการได้รับยา tigecycline (adjusted OR = 1.390, 95%CI 0.313-6.173, p = 0.665) ต้นทุนค่ายา colistin เฉลี่ยต่อคนต่ำกว่าต้นทุนค่ายา tigecycline เฉลี่ยต่อคน (ค่ามัธยฐาน 2,640 บาท vs. 37,437 บาท, p < 0.001) เมื่อคิดเป็นสัดส่วนในต้นทุนรวมทั้งหมด ต้นทุนค่ายา colistin เท่ากับ 2.5% ส่วนต้นทุนค่ายา tigecycline เท่ากับ 33.7%
สรุป: ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ผลลัพธ์ของยา colistin และ tigecycline ในการรักษาโรคติดเชื้อแกรมลบไม่แตกต่างกัน แต่ colistin มีต้นทุนค่ายาที่ต่ำกว่า tigecycline
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2556, September-December
ปีที่: 9 ฉบับที่ 3 หน้า 65-73
คำสำคัญ
Cost, ต้นทุน, colistin, tigecycline, gram-negative infection, โรคติดเชื้อแกรมลบ