ผลของการออกกำลังกายแบบฤๅษีดัดตน แบบชี่กงและแบบผสมผสานต่อความเครียด และคุณภาพชีวิต ในผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ
อรวรรณ บุราณรักษ์*, วิชัย อึงพินิจพงศ์กลุ่มวิจัยปวดหลัง ปวดคอ และปวดข้ออื่นๆ สายวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
ผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจสูงกว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้เกิดความเครียด และคุณภาพชีวิตลดลงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นการลดความเครียดและการเพิ่มคุณภาพชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ วิธีการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน คือการบริหารกาย-ใจ หรือการออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย และที่กำลังได้รับความนิยมในคนไทยได้แก่ ฤๅษีดัดตน ชี่กง อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่น่าจะเหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดจุดอ่อนและเพิ่มจุดแข็งของการออกกำลังกายทั้งสองชนิด จึงได้พัฒนารูปแบบการออกกำลังกายแบบผสมผสานนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายแบบฤๅษีดัดตน แบบชี่กง และแบบผสมผสาน ต่อการเปลี่ยนแปลงความเครียด และคุณภาพชีวิต ในผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม โดยมีอาสาสมัครผู้หญิงจำนวน 39 คน อายุระหว่าง 35-59 ปี ถูกสุ่มประเภทของการออกกำลังกายเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มฤๅษีดัดตน กลุ่มชี่กง และกลุ่มผสมผสาน โดยแต่ละคนจะเข้าร่วมออกกำลังกายแต่ละกลุ่มเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ และเว้นระยะพัก 4 สัปดาห์ โดยได้รับการประเมินความเครียด และคุณภาพชีวิต ด้วยแบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเองของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHO QOL-BREF-THAI) ทั้งก่อนเริ่มออกกำลังกาย ระหว่างออกกำลังกายในสัปดาห์ที่ 4, 8 และหลังออกกำลังกายในสัปดาห์ที่ 12 จากผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่าในกลุ่มผสมผสานมีการเปลี่ยนแปลงความเครียด และคุณภาพชีวิต ในลักษณะที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีแนวโน้มความเครียดลดลงอย่างชัดเจนหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 และเมื่อหยุดพักการออกกำลังกายยังรักษาระดับความเครียดไม่ให้สูงขึ้นได้ดีกว่า และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยเฉพาะในช่วงแรกของการฝึกสัปดาห์ที่ 4 เมื่อเทียบกับกลุ่มฤๅษีตัดตน และกลุ่มชี่กง ดังนั้นการออกกำลังกายผสมผสานฤๅษีดัดตน-ชี่กง จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดความเครียดและเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้หญิงที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2556, September-December
ปีที่: 3 ฉบับที่ 25 หน้า 280-288
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ชี่กง, Stress, คุณภาพชี่วิต, Mind-body exercise, Thai Yoga, Ruesidadton, Chikung, การบริหารกาย-ใจ, ไทยโยคะ, ฤๅษีดัดตน, ความเครียด