ผลการรักษาและมูลค่าการรักษาจากการใช้แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในร้านยามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ธีระพงษ์ ศรีศิลป์, พีรยา สมสะอาด*, รัชนันท์ อุรุเอกโอฬาร, วชิราภรณ์ พลเสนา, ศิวารัตน์ ทองแดง, สุรศักดิ์ ไชยสงค์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043 754 360, อีเมล์ [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลนำมาซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งในปัจจุบันหลักการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะที่สมเหตุสมผลมากขึ้นและลดปัญหาเชื้อดื้อยาได้
วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลทางคลินิกและมูลค่าการรักษาของผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบและโรคท้องร่วมตามแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลที่มารับบริการที่ร้านยามหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์มหาสารคามจำนวน 3 สาขา
วิธีการ: รูปแบบการศึกษาเป็นแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบที่มารับบริการด้วยอาการเจ็บคอและผู้ป่วยโรคท้องร่วงที่มารับบริการที่ร้านยามหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2555 โดยผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบจะได้รับการประเมินและจัดกลุ่มตาม Mclsaac score สำหรับผู้ป่วยโรคท้องร่วงจะได้รับการประเมินอาการและแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ จากนั้นทำการติดตามภายหลังการรักษา 5 และ 3 วัน สำหรับโรคคอหอยอักเสบและท้องร่วง ตามลำดับ
ผลการศึกษา: พบว่าผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้ 0-1 คะแนนซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะคิดเป็นร้อยละ 58.3, กลุ่มที่ได้ 2-3 คะแนนที่ได้รับและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะและกลุ่มที่ได้ ≥ 4 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 10.2, 29.1 และ 2.4 ตามลำดับ ผู้ป่วยโรคท้องร่วงส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะคิดเป็นร้อยละ 85.7 ผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบส่วนใหญ่มีอาการหายเป็นปกติคิดเป็นร้อยละ 71.7 โดยกลุ่มที่ได้ 0-1 คะแนน, กลุ่มที่ได้ 2-3 คะแนนที่ได้รับและไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ และกลุ่มที่ได้ ได้ ≥ 4 คะแนน มีอาการหายเป็นปกติคิดเป็นร้อยละ 75.7, 69.2, 64.9 และ 66.7 ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยโรคท้องร่วมส่วนใหญ่มีอาการหายเป็นปกติคิดเป็นร้อยละ 95.2 สำหรับมูลค่าการรักษาของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยโรคคอหอยอักเสบในกลุ่มที่ได้ 2-3 คะแนนที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายมากที่สุด และกลุ่มที่ได้ 2-3 คะแนนที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยผู้ป่วยกลุ่มที่ได้ 2-3 คะแนนได้รับยาปฏิชีวนะมีค่าใช้จ่ายต่อรายมากกว่ากลุ่มที่ได้ ได้ ≥ 4 คะแนน สำหรับผู้ป่วยโรคท้องร่วงในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาปฏิชีวนะ เมื่อประเมินความพึงพอใจพบว่า โดยรวมแล้วผู้ป่วยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับพอใจถึงพอใจมาก
สรุปผล: แนวทางการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในร้านยาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลและมีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2556, September-December
ปีที่: 9 ฉบับที่ 3 หน้า 31-42
คำสำคัญ
Diarrhea, Rationale Antibiotic use, upper respiratory infection, McIsacc score, การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, โรคท้องร่วง