ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ศิโรตม์ สินธุนันท์สกุล*, ศุภนริศรา ชมพูพฤกษ์
แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
วิธีการศึกษา: การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่การให้ความรู้และการปรึกษา ในการปรับพฤติกรรมการดูแลตนเอง การให้ความรู้และการปรึกษาโภชนาการ/การกำหนดสัดส่วนอาหาร การฝึกออกกำลังกาย การตรวจเท้า และการปรึกษาเรื่องยา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เข้ารับการรักษาคลินิกโรคเบาหวาน ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ระยะเวลาการศึกษา ตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม 2555 โดยสุ่มแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองอย่างละ 60 ราย โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการเก็บข้อมูล
ผลการศึกษา: ผลการวิจัย พบว่าค่าเฉลี่ยระดับดัชนีมวลกายระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean 24.5 ในกลุ่มทดลอง vs 24.0 ในกลุ่มควบคุม, P>0.05) และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าพบว่ากลุ่มทดลองต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean 131.4 ในกลุ่มทดลอง vs 235.6 ในกลุ่มควบคุม, P<0.001) นอกจากนี้ยังพบว่าค่าเฉลี่ยระดับ HbAIc กลุ่มทดลอง ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (mean 8.2 ในกลุ่มทดลอง vs 10.1 ในกลุ่มควบคุม, P<0.001)
สรุป: โปรแกรมดังกล่าวมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าและระดับ HbAIc ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ที่มา
ขอนแก่นเวชสาร ปี 2556, May-August ปีที่: 37 ฉบับที่ 2 หน้า 24-30