ประสิทธิภาพของโปรแกรมแบบสองขั้นตอนเพื่อเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ต่อการปฏิบัติการดูแลของบิดามารดา และการจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
ชื่นกมล เชื่อมบางแพ*, สุทธิลักษณ์ ตั้งกีรติชัย
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled, RCT) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมแบบสองขั้นตอนเพื่อเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ต่อการปฏิบัติการดูแลของบิดามารดา และการจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บิดาและมารดาของผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ณ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม 2555 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มอย่างง่ายเข้าสู่กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 16 คน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมแบบสองขั้นตอนเพื่อเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด ช่วงก่อนจำหน่าย เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบประเมินการปฏิบัติการดูแลของบิดามารดา และแบบประเมินการจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอบบาค (Cronbach’ Alpha Coefficient) เป็น 0.82 และ 0.85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทดสอบความแตกต่างของการปฏิบัติการดูแลของบิดามารดา และการจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติทดสอบของแมน-วิทนีย์ ยู (Mann-Whitney U-test) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
                ผลการวิจัยพบว่า การปฏิบัติการดูแลของบิดามารดาของกลุ่มทดลองมีคะแนน ในระยะหลังผ่าตัดสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (U = 22.00, P < 0.00) การจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน หลังจำหน่ายไปแล้ว 1 เดือน สูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (U = 32.50, P < 0.04)
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2556, September-December ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 22-30
คำสำคัญ
children, ผู้ป่วยเด็ก, Open heart surgery, การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด, Parental Care practice, Continuing Care Management, การปฏิบัติการดูแลของบิดามารดา, การจัดการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน