ผลของโปรแกรมการให้ความรู้เพื่อดูแลตนเองแบบสหวิชาชีพต่อความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับยาเคมีบำบัด
กชชุกร หว่างนุ่ม*, ธัญญลักษณ์ ธนโรจนวณิช, ขวัญตา ชินวัฒนชัย, ลาวัณย์ แจ่มประเสริฐ, อรอมล มาลีหวล, วชิรา จันทขันธ์Division of Chemotherapy Unit, Department of Nursing, Rajavithi Hospital, 2 Phyathai Road, Ratchathewi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: 0-2644-7000 ext. 2542; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: มะเร็งปอดมีอัตราการตายสูงพบว่า ร้อยละ 90 จะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้มีการดูแลรักษาอย่างได้ผล เนื่องจากปัจจุบันยังมีแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลกระทบของโรคและการรักษาเป็นเวลานาน โดยพบอาการเหนื่อยล้ามากที่สุด ทำให้ส่งผลต่อการรักษาของแพทย์ทุกรอบของการให้ยาเคมีบำบัด จากการศึกษาพบการจัดการความเหนื่อยล้าจะทำด้วยพยาบาลเพียงวิชาชีพเดียว จึงอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับการแก้ไขปัญหาไม่ครอบคลุมตามสาเหตุที่แท้จริง และการบำบัดความเหนื่อยล้าจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถบรรเทาได้ตลอดแผนการรักษา และยังขาดความชัดเจนในการลดความเหนื่อยล้า จึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงรูปแบบการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดนานขึ้น และมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับยาเคมีบำบัด กลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการให้ความรู้เพื่อดูแลตนเองแบบสหวิชาชีพกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบ randomized controlled trials มีกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 30 ราย ประชากรในการศึกษา คือ ผู้ป่วยระเร็งปอดที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มีอายุระหว่าง 45-65 ปี ที่หน่วยให้ยาเคมีบำบัด งานการพยาบาลผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลราชวิถี กลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติ ในขณะที่กลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการให้ความรู้เพื่อดูแลตนเองแบบสหวิชาชีพเป็นเวลา 9 สัปดาห์ หลังการทดลอง ทำการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้า ภาวะโภชนาการ ความสามารถทางร่างกาย และความซึมเศร้า โดยใช้สถิติ Independent t-test และ Mann-Whitney U-test
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่เข้าศึกษาทั้งหมด 60 ราย มีอายุเฉลี่ย 56.10 ปี อายุต่ำสุด 45 ปี สูงสุด 65 ปี เป็นเพศชายมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 68.33 เมื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่าทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ด้านความเหนื่อยล้าภายหลังการทดลอง ผู้ป่วยมีค่าคะแนนเฉลี่ยความเหนื่อยล้า 2.98±1.96 และ 3.99±1.64 ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติ p = 0.036 ในขณะที่ด้านภาวะโภชนาการกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่า p = 0.002 ส่วนด้านอื่นๆ ได้แก่ น้ำหนักตัว ระดับ albumin ความสามารถทางร่างกาย และความซึมเศร้าภายหลังการทดลอง ไม่พบความแตกต่างทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม
สรุป: โปรแกรมการให้ความรู้เพื่อดูแลตนเองแบบสหวิชาชีพ สามารถลดความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ จึงควรให้วิชาชีพอื่นที่มีความรู้เฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมในทีมดูแลสุขภาพ จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินวางแผนการดูแลสุขภาพได้ตรงกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยอย่างครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น จึงควรนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดูแล
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2556, December
ปีที่: 12 ฉบับที่ 96 หน้า 1601-1608
คำสำคัญ
Cancer, chemotherapy, Fatigue, SELF-CARE, Multidisciplinary, Education programs