ผลของโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานคนไทยทีมีภาวะอ้วน
กมลพรรณ วัฒนากร*, อาภรณ์ ดีนาน, สายใจ พัวพันธ์, Joanne Kraenzle Schneiderคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี ประเทศไทย E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบผลของโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานคนไทยที่มีภาวะอ้วนโดยการประยุกต์ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจและทฤษฎีการกำกับตนเองเป็นกรอบในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะอ้วน จำนวน 76 ราย ที่ถูกสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม แล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมเป็นการสนทนารายบุคคล จำนวน 4 ครั้งๆ ละ 30-45 นาที กลุ่มควบคุมได้รับเอกสารและการสอนสุขศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับความอ้วนสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แบบสอบถามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารและแบบสัมภาษณ์การทำกิจกรรมที่ใช้แรงกายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งใช้ประเมินในสัปดาห์ที่ 0, 5, 9 และ 13
ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยของตัวแปรที่ศึกษาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การรับรู้การเจ็บป่วย พฤติกรรมการบริโภคอาหาร นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มทดลองมีดัชนีมวลกาย เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย เส้นรอบเอวและระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของตัวแปรผลลัพธ์ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลการศึกษาสนับสนุนว่าโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารสามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเกิดแรงจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารแบบยั่งยืน และสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ และใช้โปรแกรมในระยะยาวขึ้น
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2556, October-December
ปีที่: 4 ฉบับที่ 17 หน้า 356-370
คำสำคัญ
Diabetes, Obesity, พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, Eating behaviour, modification program, randomised clinical trial