การศึกษาผลของยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ต่อความดันลูกตา
ปิยพงษ์ บำรุง*, ชลธิชา จารุมาลัย, ทรงกลด เอียมจตุรภัทรกลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร
บทคัดย่อ
โรคเยื่อบุจมูกอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติโสด ศอ นาสิกวิทยา ยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็คือ ยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้ยา สเตียรอยด์สามารถทำให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้นได้เมื่อให้ในรูปแบบของ oral form, periocular injection, ophthalmic drop และแบบ cream, lotion หรือ ointment ที่ใช้บริเวณใบหน้าและหนังตา เป็นระยะเวลานานๆ การที่ผู้ป่วยมีความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้นก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคต้อกระจกและต้อหินตามมาได้ ส่วนยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ยังไม่ทราบผลที่ชัดเจน ผู้วิจัยจึงมุ่งหวังที่จะศึกษาถึงผลของยาพ่นจมูกคอร์ติโคสเตียรอยด์ ว่ามีผลต่อความดันลูกตาหรือไม่
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบ before-after cohort study มีผู้ป่วยทั้งหมด 40 คน แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 20 คน ใช้การกระจายตัวอย่างแบบสุ่ม (randomization) โดยวิธีการจัดสรรแบบ block of 4 randomization กลุ่ม A ได้รับยา Budesonide กลุ่ม B ได้รับยา Triamcinolone acetonide ทำการศึกษาในผู้ป่วยนอกที่มาตรวจ ณ แผนกโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ป่วยทุกคนจะต้องได้รับการตรวจวัดค่าความดันลูกตา ทั้งก่อนได้รับยาและหลังได้รับยา 1, 3 และ 6 เดือนตามลำดับ เปรียบเทียบโดยใช้สถิติ Repeated ANOVA และเปรียบเทียบระหว่างยา Budesonide กับ Triamcinolone acetonide โดยใช้สถิติ ANCOVA
ผลการศึกษา: พบว่าในกลุ่มที่ใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ Budesonide มีค่าความดันลูกตาโดยเฉลี่ยก่อนใช้ยาอยู่ที่ 13.6 +/- 2.6 mmHg และ 12.7 +/- 1.8, 13.1 +/- 2.9, 12.9 +/- 2.4 mmHg หลังใช้ยา 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ ซึ่งความดันลูกตาทั้งก่อนและหลังใช้ยาไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.283) ในขณะกลุ่มที่ใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ Triamcinolone acetonide มีค่าความดันลูกตาโดยเฉลี่ยก่อนใช้ยาอยู่ที่ 13.3 +/- 2.8 mmHg และ 12.2 +/- 2.0, 13.1 +/- 2.2, 13.2 +/- 2.5 mmHg หลังใช้ยา 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ ซึ่งความดันลูกตาทั้งก่อนและหลังใช้ยาไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.295) เมื่อเปรียบเทียบความดันลูกตาหลังการใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ระหว่างกลุ่มที่ใช้ยา Budesonide กับกลุ่มที่ใช้ยา Triamcinolone acetonide ก็พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P > 0.05)
สรุป: การใช้ยาพ่นจมูกสเตียรอยด์ในขนาดยาที่ปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 เดือนไม่มีผลต่อความดันลูกตาและความดันลูกตาหลังจากการใช้ยา Budesonide กับ Triamcinolone acetonide ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2553, October-December
ปีที่: 4 ฉบับที่ 11 หน้า 147-154
คำสำคัญ
Triamcinolone acetonide, Budesonide, Intranasal Corticosteroids, Intraocular Pressure