การสวดมนต์เปรียบเทียบกับการอ่านบทกวีเป็นการรักษาเสริมเพื่อลดระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับ 1 ขึ้นไป
ธนากร มณีเจริญ*, พัชรี เพ็งสุพรรณ์, กาญจนา ชั้นสุพัฒน์, กัลยา อัคคะ, ชยันตร์ธร ปทุมานนท์, ชไมพร ทวิชศรี
Outpatient Department, Uttaradit Hospital
บทคัดย่อ
บทนำ: การสวดมนต์เพื่อบำบัดโรค (Prayer Healing) ช่วยให้ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงน้อยลง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเครียด โรคซึมเศร้า และโรคมะเร็ง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศาสนา การไปโบสถ์ และ สวดมนต์ มีความสัมพันธ์กับการลดลงทั้ง SBP และ DBP จากการศึกษาที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการใช้กวีบำบัด (Poetry therapy) มาช่วยในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้งรูปแบบการอ่านและการเขียนทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตดีขึ้น แต่ยังไม่มีการศึกษาโดยใช้กวีบำบัดมาช่วยรักษาเสริมลดความดันโลหิตแต่อย่างใด การสวดมนต์จะประกอบด้วยการจดจ่อและศรัทธา แต่การอ่านบทกวีจะมีเพียงการจดจ่อเพียงอย่างเดียว
การศึกษานี้มุ่งจะดูผลของการสวดมนต์และการอ่านบทกวีต่อการลดความดันโลหิต และหาทางเลือกการรักษาเสริมให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่อาจจะไม่ศรัทธาในศาสนา โดยสามารถใช้การอ่านบทกวีมาทดแทนการสวดมนต์ได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการสวดมนต์กับการอ่านบทกวีต่อระดับความดันโลหิต
รูปแบบการศึกษา: การศึกษาแบบ Randomized controlled Trial
สถานที่ศึกษา: คลินิกความดันโลหิตสูง งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
วิธีการศึกษา: ศึกษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มารับบริการคลินิกความดันโลหิตสูง ระหว่างเดือนมกราคม 2555 ถึงพฤษภาคม 2556 รวบรวมข้อมูลทั่วไป การเจ็บป่วย ปัจจัยที่มีผลต่อระดับความดันโลหิต กิจกรรมทางศาสนา การอ่านบทกวี การประเมินโรคซึมเศร้าและความเครียด
ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม มี อายุ (p=0.031) สถานภาพสมรส (p=0.036) ฐานะทางเศรษฐกิจ (p=0.003) โรคหัวใจ (p=0.039) การปรับยาหลังเข้ากลุ่มเดือนที่ 5 (p=0.043) การนั่งสมาธิ (p=0.006) และอ่านบทกวี (p=0.002) แตกต่างกัน จากข้อมูลระดับความดันโลหิตก่อนและหลังเข้ากลุ่ม พบว่าในกลุ่มสวดมนต์มีการลดระดับความดันโลหิตไปสู่ระดับ Prehypertension และระดับ Normal มากที่สุด ในการติดตามครั้งที่ 2 (p=0.038) และครั้งที่ 3 (p=0.014) และเมื่อนำมาวิเคราะห์รายคู่เปรียบเทียบพหุคูณของความดันโลหิตระหว่างกลุ่ม พบว่า กลุ่มสวดมนต์มีการลดลงของระดับความดันโลหิต systolic เหนือกว่ากลุ่มปกติอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ (p=0.049) และมีแนวโน้มว่าจะมีการลดลงของระดับความดันโลหิต Mean BP เหนือกว่ากลุ่มปกติด้วย (p=0.054)
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ:  ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงสามารถนำการสวดมนต์มาใช้เป็นการรักษาเสริมช่วยลดความดันโลหิตได้
 
ที่มา
อุตรดิตถ์เวชสาร ปี 2556, September-December ปีที่: 28 ฉบับที่ 3 หน้า 1-16
คำสำคัญ
Hypertensive Patients, praying, Poetic readings, Blood pressure levels, สวดมนต์, อ่านบทกวี, ระดับความดันโลหิต, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง