เปรียบเทียบผลการเย็บแผลปิดผนังหน้าท้องแบบต่อเนื่องชั้นเดียว และแบบสองชั้นในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลแยก
ชัชชัย เทพจินดา
กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการเย็บแผลปิดหน้าท้องชั้นเดียวแบบต่อเนื่อง และการเย็บปิดแผลแบบสองชั้น ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลแยก โดยติดตามผลการเกิดแผลแยก และศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดแผลแยก
วัสดุและวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้าในผู้ป่วย 300 ราย ที่ได้รับรับการผ่าตัดเปิดช่องท้องที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดแผลผ่าตัดแยกที่โรงพยาบาลดำเนินสะดวก ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2554 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่มจากซองปิดผนึก ผู้ป่วย 145 ราย เป็นกลุ่มควบคุมเย็บแผลตามปกติแบบต่อเนื่องชั้นเดียว และ 155 ราย เป็นกลุ่มทดลองเย็บแผลแบบสองชั้น โดยเปรียบเทียบผลการเกิดแผลแยก อันตราการเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อน ระยะเวลานอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายของการรักษา รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่มีผลต่อการเกิดแผลแยก โดยใช้วิธีทางสถิติ chi-square test, t-test และ multiple logistic regression
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเป็นเพศชายร้อยละ 56.7 เปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม อายุเฉลี่ย 61.82 ปี และ 61.27 ปี (p = 0.64) โรคร่วมและภาวะเสี่ยงก่อนผ่าตัดไม่แตกต่างกัน มีเพียงภาวะอ้วน (BMI > 25) ในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม (p = 0.04) กลุ่มทดลองพบมีแผลแยก 1 ราย เปรียบเทียบกลุ่มควบคุมมี 15 ราย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.001 RR 17.76, 95% CI 2.31-136.33 ระยะเวลานอนโรงพยาบาลกลุ่มทดลอง 11.10±3.78 วัน และกลุ่มควบคุม 12.28±5.11 วัน มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.025) ระยะเวลาการหายแผลในกลุ่มทดลอง 11.11±2.40 วัน และกลุ่มควบคุม 12.25±3.67 วัน มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.002) อัตราการเสียชีวิตกลุ่มควบคุม 4 ราย กลุ่มทดลองไม่มีเสียชีวิต ไส้เลื่อนแผลผ่าตัดอย่างละ 2 ราย เท่ากัน วิเคราะห์ถอถอยแบบพหุโลจิสติก ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลแยกที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) คือ ภาวะของเหลวรั่วไหลของอวัยวะภายในมีความเสี่ยงมากที่สุด 21.16 เท่า (OR = 21.26, 95% CI 3.42-130.66) p =0.001 รองลงมา คือภาวะอัลบูมินต่ำ มีความเสี่ยง 19.87 เท่า (OR = 19.87, 95% CI 3.33 – 118.72) p = 0.001 ภาวะหัวใจล้มเหลวมีความเสี่ยง 14.78 เท่า (RR = 17.78, 95% CI 2.30-95.09 p = 0.005 และภาวะแผลติดเชื้อมีความเสี่ยง 12.96 เท่า (OR = 12.96, 95% CI 2.71 – 62.06) p = 0.001
สรุป:  การเย็บแผลปิดผนังหน้าท้องแบบสองชั้น ช่วยลดการเกิดแผลผ่าตัดแยกในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลแยกได้ดี การค้นหา และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งก่อนและหลังผ่าตัดมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการเกิดแผลแยก ซึ่งทำให้คุณภาพของการรักษาดีขึ้น
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2557, April-June ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 61-75
คำสำคัญ
Suture technique, abdominal wound dehiscence, risk factors of wound dehiscence, การเย็บแผลปิดผนังหน้าท้อง, แผลผ่าตัดหน้าท้องแยก, ปัจจัยเสี่ยงการเกิดแผลแยก