การศึกษาคุณภาพชีวิตในชายไทยที่มีภาวะผมบางแบบพันธุกรรมโดยการใช้แบบสอบถาม DERMATOLOGY LIFE QUALITY INDEX
ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์
Department of Dermatology, School of Anti-aging and Regenerative Medicine, Mae Fah Luang Hospital, Bangkok, THAILAND
บทคัดย่อ
ที่มา: แม้ว่าภาวะผมบางแบบพันธุกรรม (Androgenetic alopecia; AGA) จะเป็นสาเหตุของภาวะผมร่วงในผู้ชายที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ยังขาดการรายงานการศึกษาถึงผลต่อคุณภาพชีวิตในเชิงคุณภาพอย่างมีมาตรฐาน  ดัชนีวัดคุณภาพชีวิตทางตจวิทยา (Dermatology Life Quality Index; DLQI) เป็นแบบสอบถามทางผิวหนังที่เข้าใจง่าย และมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะผมบางแบบพันธุกรรมต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยชายไทยมาก่อน
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยชายไทยที่มีภาวะผมบางแบบพันธุกรรมโดยใช้แบบสอบถาม DLQI
วิธีการวิจัย: ชายไทยที่มีภาวะผมบางแบบพันธุกรรมจำนวน 50 รายได้เข้าร่วมในการศึกษานี้ โดยแต่ละรายจะตอบแบบสอบถาม DLQI ภายในเวลา 5 นาที
ผลการวิจัย: ค่าเฉลี่ย mean (SD) คะแนนรวมของดัชนีวัดคุณภาพชีวิตทางตจวิทยาของผู้ป่วยเท่ากับ5.08 (4.56)  พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนที่สูงสุดในแต่ละบุคคลมาจากคำถามข้อที่ 2 (ความอับอาย) ส่วนค่าเฉลี่ยคะแนนที่ต่ำสุดในแต่ละบุคคลมาจากคำถามข้อที่ 9 (ปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์) ในการศึกษานี้พบว่าความรุนแรงของภาวะผมบางและอายุของผู้ป่วยไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ
สรุปผลการวิจัย: การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะผมบางแบบพันธุกรรมในชายไทยมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย  โดยส่งผลกระทบอย่างมากที่สุดต่อความรู้สึกของผู้ป่วยและส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้ป่วย แพทย์จึงควรตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งการใช้แบบสอบถาม DLQI เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประโยชน์และนำไปใช้ได้ง่ายเพื่อประเมินผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะผมบางแบบพันธุกรรม
 
ที่มา
วารสารโรคผิวหนัง ปี 2556, October-December ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 199-207
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Androgenetic alopecia, คุณภาพชี่วิต, Dermatology Life Quality Index, Thai men, ภาวะผมบางแบบพันธุกรรม, ชายไทย