เปรียบเทียบคะแนนการป้อนนมโดยอุปกรณ์เสริมกับการป้อนแก้วในการเข้าเต้า
สุขวดี เกษสุวรรณ*, นงเยาว์ ใบยา, เกศสุดา แม่หละเจริญพร, เกษม เรืองรองมรกต
งานพยาบาลผู้ป่วยสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ 62 หมู่ 7 อ.องครักษ์ จ.นครนายก 26120 อีเมล: [email protected]
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการป้อนนมโดยอุปกรณ์เสริมกับการป้อนแก้วในการเข้าเต้าในมารดาหลังคลอด ที่มาคลอด ณ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ จังหวัดนครนายก จำนวน 40 คน เลือกตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 20 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการช่วยเหลือการป้อนนมด้วยอุปกรณ์เสริม ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการช่วยเหลือการป้อนนมแบบป้อนแก้ว และวัดด้วยแบบประเมินการเข้าเต้า สถิติที่ใช้ คือ ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบด้วยสถิติ Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks และเปรียบเทียบคะแนนการเข้าเต้าระหว่างการใช้อุปกรณ์เสริมกับการป้อนแก้วด้วยสถิติ Mann-Whitney U Test ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยการเข้าเต้าของมารดาหลังคลอดในกลุ่มก่อนได้รับอุปกรณ์เสริมเท่ากับ 5.30 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.17 และหลังได้รับอุปกรณ์เสริมเท่ากับ 7.45 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.05 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.01) และคะแนนเฉลี่ยการเข้าเต้าของมารดาหลังคลอดในกลุ่มก่อนได้รับการป้อนแก้วเท่ากับ 4.95 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.05 และหลังได้รับการป้อนแก้วเท่ากับ 7.3 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.49 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p <0.01) เมื่อนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบผลต่างคะแนนการเข้าเต้าของการใช้อุปกรณ์เสริมและการป้อนแก้ว ด้วยสถิติ Mann-Whitney U Test พบว่าไม่แตกต่างกัน p = 0.898 ดังนั้น อุปกรณ์เสริมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในกรณีที่ทารกยังดูดนม จากเต้าไม่ได้เช่นเดียวกับการป้อนแก้ว และทำให้ทารกมีความพร้อมในการเข้าเต้าได้ดีขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2557, August ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 58-67
คำสำคัญ
tube feeding, cup feeding, latch score, อุปกรณ์เสริม, การป้อนแก้ว, การเข้าเต้า