ผลการวางแผนจำหน่ายโดยการมีส่วนร่วมของทีมสหสาขาวิชาชีพต่อค่าใช้จ่าย จำนวนวันนอน พฤติกรรมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
นภาพร เดชสำราญ, นิตญา เดชสำราญ, ปนัดดา มณีทิพย์, Patcharapporn Chanphet, เพ็ญจันทร์ ผาตินุวัติ*
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
บทคัดย่อ
                โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของทีมสหสาขาเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วยและครอบครัว ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างรูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและศึกษาผลการจำหน่ายผู้ป่วยโดยการมีส่วนร่วมของทีมสหสาขาต่อค่าใช้จ่าย จำนวนวันที่นอน พฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเก็บข้อมูลเดือนมกราคม – สิงหาคม 2555 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 99 ราย เครื่องมือในการศึกษาเป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกค่ารักษา แบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิต มีค่าความเชื่อมั่นของแบบประเมิน 0.763 และ 0.771 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยวันนอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่าย คะแนนพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตระยะเป็นผู้ป่วยในของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกัน (p = 0.86, 0.182, 0.514 และ  0.395 ตามลำดับ) แต่ในระยะหลังจำหน่าย 8 สัปดาห์ คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพชีวิตในกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.01, 0.01 ตามลำดับ) ดังนั้นควรใช้แผนกจำหน่ายอย่างจริงจังกับผู้ป่วยและศึกษาผลลัพธ์ด้านอื่นๆ เช่น ความพึงพอใจของทีมสหสาขาและของผู้ป่วย อัตราการกลับรักษาซ้ำใน 3 เดือน 6 เดือน และความแปรปรวนของการใช้แผนจำหน่ายเพิ่มเติม
 
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2557, July-September ปีที่: 33 ฉบับที่ 3 หน้า 221-236
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Cost, ค่าใช้จ่าย, Multidisciplinary team, ทีมสหสาขาวิชาชีพ, พฤติกรรมสุขภาพ, การวางแผนจำหน่าย, คุณภาพชี่วิต, health behavior, Discharge planning, length of stay, acute myocardial infarction patients, ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, จำนวนวันนอน