ต้นทุนบริการของโรงพยาบาล: รายงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
ชุติมา คงจันทร์กลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
บทนำ: การวิเคราะห์ต้นทุนบริการ เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาของระบบการเงินการคลัง และขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเงินการคลังและความมั่นคงของระบบการดูแลด้านสุขภาพของสถานบริการทุกระดับ เพราะนอกจากจะทำให้เราได้เห็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับหน่วยบริการอื่นในระดับเดียวกันหรือในเครือข่าย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาสัดส่วนต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าลงทุน ต้นทุนต่อหน่วยบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในและอัตราส่วนต้นทุนต่อราคาขาย
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา โดยการเก็บข้อมูลย้อนหลัง จากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ ปีงบปะมาณ 2555 ในมุมมองผู้ให้บริการ ของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เครื่องมือ คือ แบบบันทึกข้อมูลจากคู่มือการศึกษาต้นทุนสถานบริการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมมาตรฐานในการจัดทำต้นทุนหน่วยบริการ Cost Project และ Cost data ในการบันทึกและคำนวณต้นทุน การกระจายต้นทุนแบบสมการเส้นตรงพีชคณิต (Simultaneous Equation Method) ใช้สถิติเชิงพรรณนา จำนวน ร้อยละ สัดส่วน และอัตราส่วน
ผลการศึกษา: ต้นทุนรวมโดยตรงมีมูลค่า 4,110,904,009.14 บาท โดยสัดส่วนต้นทุนค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าลงทุน เท่ากับ 53.53: 39.57: 6.90 ต้นทุนบริการผู้ป่วยนอก 671.94 บาท/ครั้ง โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ 855.24 บาท/ครั้ง โรงพยาบาลทั่วไปสงขลา 828.62 บาท/ครั้ง และโรงพยาบาลชุมชน 483.02 บาท/ครั้ง ต้นทุนบริการผู้ป่วยใน 12,412.67 บาท/ราย โรงพยาบาลทั่วไปสงขลา 16,702.21 บาท/ราย โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ 16,378.07 บาท/ราย และโรงพยาบาลชุมชน 6,230.98 บาท/ราย ต้นทุนบริการผู้ป่วยใน 3,182.97 บาท/วันนอน โรงพยาบาลทั่วไปสงขลา 3,525.54 บาท/วันนอน โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ 3,416.70 บาท/วันนอน และโรงพยาบาลชุมชน 2,412.05 บาท/วันนอน ต้นทุนบริการผู้ป่วยในต่อค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับค่าวันนอนแล้ว 13,194.58 บาท โรงพยาบาลชุมชน 15,838.04 บาท/ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ โรงพยาบาลทั่วไปสงขลา 15,352.24 บาท/ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ 11,347.07 บาท/ค่าน้ำมันสัมพัทธ์ และอัตราส่วนต้นทุนต่อราคาขาย เท่ากับ 0.9503 โรงพยาบาลทั่วไปสงขลา เท่ากับ 0.5346 โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เท่ากับ 0.9907 และโรงพยาบาลชุมชน เท่ากับ 1.8213
สรุป: ต้นทุนบริการ จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลสถิติจาการระบบบัญชีการเงิน และบัญชีพัสดุ ตลอดจนระบบข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง สอดคล้อง เหมาะสม ตรงตามสภาพการจัดองค์กรบริหารของหน่วยงาน จึงควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อทราบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต้นทุนของสถานบริการ และหน่วยต้นทุนต่างๆ และนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการและควบคุมค่าใช้จ่าย ปรับสัดส่วนต้นทุนต่อหน่วยบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ตลอดจนทบทวนการกำหนดราคาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของหน่วยงาน
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2557, January-April
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 34-40