ผลของการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพรร่วมกับการใช้ยา ต่ออาการปวดหลังส่วนล่างและปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง
ชาคริต สัตยารมณ์*, ลดาวัลย์ อุ่นประเสริฐพงศ์ นิชโรจน์, ์ฺนพวรรณ เปียซื่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม เพื่อศึกษาผลของการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพรร่วมกับการใช้ยา ต่ออาการปวดหลังส่วนล่างและปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 60 คน คัดเลือกตัวอย่างโดยการสุ่มแบบเป็นระบบ และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพร วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 30 นาที 3 วัน ร่วมกับการได้รับนยา diclofenac 25 mg. และ tolperisone 50 mg. ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับยา diclofenac 25 mg. และ tolperisone 50 mg. ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร 3วัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย การประคบสมุนไพร คู่มือการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพร เครื่องอี เอ็ม จี ไบโอฟีดแบค แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินอาการปวดหลังส่วนล่าง แบบบันทึกการรับประทานยา และแบบบันทึกปฏิกิริยาสะท้อนความตึงของกล้ามเนื้อ ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2556 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ independent t-test และ paired t-test
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยอาการปวดหลังส่วนล่างและปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 7.860, p < .001 และ t = 11.760, p < .001 ตามลำดับ) และพบว่าหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยอาการปวดหลังส่วนล่างและปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 25.981, p < .001 และ t = 13.347, p < .001 ตามลำดับ)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพรสามารถลดอาการปวดหลังส่วนล่างและปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อได้ ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเกิดความผ่อนคลาย ซึ่งการสนับสนุนและยืนยันผลดังกล่าวสามารถใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติทางคลินิกในการดูแลสุขภาพ โดยสามารถผสมผสานการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหยและประคบสมุนไพร ร่วมกับการรักษาตามแนวปฏิบัติของแพทย์แผนปัจจุบัน และขยายผลการปฏิบัติสู่ชุมชน เพื่อให้เกิดผลดีกับผู้รับบริการในการได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวมต่อไป
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2557, March-August
ปีที่: 25 ฉบับที่ 2 หน้า 1-13
คำสำคัญ
Low back pain, อาการปวดหลังส่วนล่าง, Aroma oil massage, Herbal compression, Electromyogram of muscle tension, Complementary medicine, การนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย, การประคบสมุนไพร, ปฏิกิริยาสะท้อนความตึงตัวของกล้ามเนื้อ, การแพทย์แบบผสมผสาน