การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบรรเทาความเจ็บปวดของผู้คลอดครรภ์แรกในระยะปากมดลูกเปิดเร็วด้วยวิธีการควบคุมการหายใจกับวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสม
ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์*, นริชชญา หาดแก้ว, จันทรมาศ เสาวรส
ภาควิชาการพยาบาลมารดาทารกและการผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการบรรเทาความเจ็บปวดของ
ผู้คลอดครรภ์แรกในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ด้วยวิธีการควบคุมการหายใจกับวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสม
กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ครรภ์แรกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่มารับบริการฝากครรภ์และคลอดที่ห้องคลอดของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จำนวน 30 คน สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองด้วยการจับคู่ โดยใช้ระดับความเจ็บปวดและการเปิดของปากมดลูกที่ใกล้เคียงกัน กลุ่มละ 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยเอกสารแผ่นพับ หมอนข้างยาว แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความรุนแรงของความปวด และแบบสังเกตพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดที่มีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ .90 ขึ้นไป ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกันยายน 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Wilcoxon signed-rank test และ Mann-Whitney U test
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. ก่อนให้การพยาบาลด้วยวิธีการควบคุมการหายใจ กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดเท่ากับ 6.67 (SD = 2.23) หลังให้การพยาบาลมีค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดลดลงเหลือ 5.73 (SD = 2.15) ค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดก่อนให้การพยาบาลด้วยวิธีอยู่ในท่าที่เหมาะสมเท่ากับ 6.67 (SD = 2.23) หลังให้การพยาบาลมีค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดลดลงเหลือ 5.47 (SD = 2.10) โดยพบว่าค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดหลังให้การพยาบาลด้วยวิธีการควบคุมการหายใจและวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสม น้อยกว่าก่อนให้การพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z = 2.640, p < .01 และ z = 2.970, p < .01 ตามลำดับ)
2. ก่อนให้การพยาบาลด้วยวิธีการควบคุมการหายใจ กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญ
ความเจ็บปวดโดยรวมเท่ากับ 10.93 (SD = 2.55) หลังให้การพยาบาลมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดโดยรวมสูงขึ้นเป็น 12.73 (SD = 1.75) ค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดโดยรวมก่อนให้การพยาบาลด้วยวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสมเท่ากับ 10.53 (SD = 2.23) หลังให้การพยาบาลมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดโดยรวมสูงขึ้นเป็น 12.27 (SD = 2.05) โดยพบว่าค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดโดยรวมหลังให้การพยาบาลด้วยวิธีการควบคุมการหายใจและวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสม สูงกว่าก่อนให้การพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (z = 2.849, p < .01 และz = 2.970, p < .01 ตามลำดับ)
3. ค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดและค่าเฉลี่ยพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวด ก่อนและหลังให้
การพยาบาล ระหว่างวิธีการควบคุมการหายใจกับวิธีการอยู่ในท่าที่เหมาะสม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลในห้องคลอดควรให้ความสำคัญกับการจัดท่าผู้คลอดให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้คลอดมากขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2557, March-August ปีที่: 25 ฉบับที่ 2 หน้า 14-25
คำสำคัญ
Pain relief, Childbearing, Breathing control, Positioning, การบรรเทาความเจ็บปวด, ผู้คลอด, การควบคุมการหายใจ, การจัดท่า