ประสิทธิภาพของวิธีบริหารยาไมโซพรอสทอลโดยการอมใต้ลิ้นหรือการกินสำหรับการเตรียมปากมดลูกก่อนการทำการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือหลอดดูดสุญญากาศชนิดมือถือในการยุติการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกโดยวิธีการแบบสุ่มและมีการควบคุม
อวัสดา บุณยัษเฐียร, เด่นศักดิ์ พงศ์โรจน์เผ่า*, คมสันติ์ สุวรรณฤกษ์, กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ
Department of Obstetrics and Gynaecology, Faculty of Medicine, Thammasat University, Pathumtani 12120, Thailand; Phone: 0-2926-9343, Fax: 0-2926-9485; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของยา misoprostol โดยบริหารยาด้วยการอมใต้ลิ้นเทียบกับการบริหารยาด้วยการกินยาในการขยายปากมดลูกก่อนการทำ MVA ในการยุติการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
วัสดุและวิธีการ: สตรีตั้งครรภ์ไตรมาสแรกที่มีภาวะแท้งบุตรและจำเป็นต้องได้รับการขูดมดลูกจำนวน 80 ราย โดยสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับยาไมโซพรอสทอล 400 ไมโครกรัม อมใต้ลิ้น และกลุ่มที่ได้รับยาไมโซพรอสทอล 400 ไมโครกรัม กินเพื่อเตรียมปากมดลูกก่อนการทำ MVA 2 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินขนาดของปากมดลูกก่อนการทำ MVA, เวลาที่ใช้ทำหัตถการ, ภาวะแทรกซ้อน, ผลข้างเคียง, ระดับความเจ็บปวด ตลอดจนระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยในการขูดมดลูก
ผลการศึกษา: ลักษณะของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองกลุ่ม  (อายุเฉลี่ย, ค่าดัชนีมวลกาย, รายได้, ระดับการศึกษา, จำนวนผู้ป่วยที่เคยและไม่เคยคลอดบุตรทางช่องคลอด, อายุครรภ์) เมื่อเปรียบเทียบขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของปากมดลูกในผู้ป่วยที่อมยาไมโซพรอสทอลใต้ลิ้นกว้างมากกว่ากลุ่มที่กินยาไมโซพรอสทอลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (7.3±1.5 และ 5.9±1.4 มิลลิเมตร ตามลำดับ, p<0.001) กลุ่มที่อมยาใต้ลิ้นใช้เวลาทำหัตถการ MVA สั้นกว่ากลุ่มกินยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (5.2±3.3 และ 7.3±4.6 นาที ตามลำดับ, p = 0.02) ทั้งนี้ผลข้างเคียง ระดับความเจ็บปวด และระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองกลุ่ม และไม่พบผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น มดลูกทะลุ, ปากมดลูกฉีกขาด, แท้งไม่ครบ และตกเลือดในการศึกษานี้
สรุป: การได้รับยาไมโซพรอสทอล 400 ไมโครกรัม 2 ชั่วโมง ก่อนทำหัตถการโดยวิธีการอมใต้ลิ้นมีประสิทธิผลมากกว่าการบริหารยาโดยการกินยาไมโซพรอสทอล ในการเตรียมปากมดลูกก่อนการขูดมดลูกโดยวิธี MVA ในสตรีแท้งบุตรไตรมาสแรก โดยที่ผลข้างเคียงภาวะแทรกซ้อน ระดับความเจ็บปวด และระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2557, October ปีที่: 97 ฉบับที่ 10 หน้า 1009-1015
คำสำคัญ
Misoprostol, Oral, Sublingual, Cervical ripening, manual vacuum aspiration, First trimester abortion