การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณการสูญเสียเลือดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมระหว่างการหนีบท่อระบายเลือด 1 ชั่วโมงและการไม่หนีบท่อระบายเลือด
ชัยพร ทีฆเสนีย์*, วีระชัย โควสุวรรณ
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์ : การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในปัจจุบันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อมสภาพจากโรคต่างๆ แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดที่มีการสูญเสียเลือดหลังผ่าตัดมาก จึงต้องมีการใส่ท่อระบายเลือดไว้เพื่อป้องกันเลือดคั่งในข้อเข่า ในขณะเดียวกัน แนวทางการหนีบท่อระบายเลือดและการไม่หนีบท่อระบายเลือดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมภายในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ยังไม่ชัดเจน โดยมีทั้งกลุ่มที่หนีบท่อระบายเลือดและกลุ่มไม่หนีบท่อระบายเลือด
การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการหนีบท่อระบายเลือดเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่หนีบท่อระบายเลือดกับอัตราการสูญเสียเลือดหลังการผ่าตัดและระดับของความเข้มข้นของเลือดที่เปลี่ยนแปลงหลังการผ่าตัด
วิธีการศึกษา : การศึกษานี้ทำการเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผู้เข้ารับการศึกษาทั้งหมด 62 ราย ได้แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม เท่าๆ กัน กลุ่มที่ 1 ไม่หนีบท่อระบายเลือด 1 ชั่วโมงหลังผ่าตัด จำนวน 31 ราย กลุ่มที่ 2 หนีบท่อระบายเลือด จำนวน 31 ราย
ผลการศึกษา : ปริมาณการสูญเสียเลือด: ในกลุ่มที่ 1 มีการสูญเสียเลือดโดยเฉลี่ย 793 มิลลิลิตร ในกลุ่มที่ 2 มีการสูญเสียเลือดโดยเฉลี่ย 621 มิลลิลิตร ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.055) ความเข้มข้นเลือดที่เปลี่ยนแปลง: ในกลุ่มที่ 1 เท่ากับ ร้อยละ 4.25 ในกลุ่มที่ 2 เท่ากับร้อยละ 4.25 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.56)
สรุป : ไม่พบความแตกต่างของปริมาณการสูญเสียเลือดและการเปลี่ยนแปลงระดับความเข้มข้นของเลือดระหว่างการหนีบท่อระบายเลือดและการไม่หนีบท่อระบายเลือด
 
ที่มา
ศรีนครินทร์เวชสาร ปี 2557, July-August ปีที่: 29 ฉบับที่ 4 หน้า 329-333
คำสำคัญ
Total knee arthroplasty, Blood loss, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข้าเทียม, Clamping drainage, การหนีบท่อระบายเลือด, ปริมาณการสูญเสียเลือด