การศึกษาผลของการสกัดเส้นประสาทของหนังศีรษะด้วยยาชาบูพิวาเคนความเข้มข้นร้อยละ 0.5 ต่อผลลัพธ์ระหว่างและหลังผ่าตัดสมอง: การศึกษาแบบสุ่ม ไปข้างหน้า แบบมีกลุ่มควบคุมและบดบังวิธีการศึกษาต่อผู้ป่วยและผู้ประเมินผลการวิจัย
ปฐมพร ปิ่นอ่อน*, ยอดยิ่ง ปัญจสวัสดิ์วงศ์, ศิริวรรณ เชาวน์สุวรรณ
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50200
บทคัดย่อ
บทนำ: การสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะก่อนการผ่าตัดสมอง เป็นวิธีการลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดสมองวิธีหนึ่ง อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาประโยชน์จากการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะของหลาย ๆ การศึกษาที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน การศึกษาครั้งนี้จึงได้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะด้วยยาชาบูพิวาเคนความเข้มข้นร้อยละ 0.5 ต่อปริมาณความต้องการใช้ยาเฟนทานิลระหว่างการผ่าตัด การเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนโลหิตในช่วงการใส่อุปกรณ์ยึดศีรษะผู้ป่วยกับเตียงผ่าตัดและอัตราการถอดท่อช่วยหายใจเมื่อผ่าตัดเสร็จ โดยทำการศึกษาแบบสุ่ม ไปข้างหน้า มีกลุ่มควบคุมและบดบังวิธีการศึกษาต่อผู้ป่วยและผู้ประเมินผลการวิจัย เก็บข้อมูลจากอาสาสมัครที่มาเข้ารับการผ่าตัดสมองแบบนัดหมายล่วงหน้า จำนวน 95 ราย
ผลการศึกษา: พบว่าความต้องการใช้ยาเฟนทานิลระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะด้วยยาชาบูพิวาเคนเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม คือ 5.8 ± 3.0 ไมโครกรัม/ กิโลกรัมและ 6.4 ± 3.2 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม (p = 0.33) การเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยความดันโลหิตขณะใส่อุปกรณ์ยึดศีรษะผู้ป่วยกับเตียงผ่าตัดในกลุ่มควบคุมสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะด้วยยาชาบูพิวาเคน (14 ± 7 มิลลิเมตรปรอทเปรียบเทียบกับ 11 ± 9 มิลลิเมตรปรอท, p = 0.38) และพบว่าอัตราการถอดท่อช่วยหายใจเมื่อผ่าตัดเสร็จไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะด้วยยาชาบูพิวาเคนกับกลุ่มควบคุม สรุป: การศึกษาครั้งนี้ไม่พบว่าการสกัดเส้นประสาทหนังศีรษะก่อนการผ่าตัดสมอง ด้วยยาชาบูพิวาเคนความเข้มข้นร้อยละ 0.5 มีประโยชน์มากไปกว่าการได้รับยาแก้ปวดทางหลอดเลือดดำเพียงอย่างเดียว
 
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2557, July-September ปีที่: 40 ฉบับที่ 3 หน้า 193-204
คำสำคัญ
Bupivacaine, Scalp blockade, perioperative outcomes, craniotomy surgery, การสกัดเส้นประสาทของหนังศีรษะ, ยาบูพิวาเคน, ผลลัพธ์ระหว่างและหลังผ่าตัด, การผ่าตัดสมอง