การเปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผลการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ระหว่างการสำรวจหมู่บ้านแบบเร็วและค้นหาโดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ญาดา โตอุตชนม์, สุชัญญา มานิตย์ศิริกุล*
สำนักงานป้องกันโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา
บทคัดย่อ
                กลวิธีหลักที่สำคัญที่สุดของโครงการควบคุมโรคเรื้อนคือ การมุ่งตรวจค้นหาผู้ป่วยให้พบแต่เนิ่นๆ และให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยทันทีก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการกำเริบเข้าสู่ระยะติดต่อและพิการ วิธีการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ มีการคิดค้นวิธีพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสำรวจประชาการทุกคน total village survey (TVS) และสำรวจหมู่บ้านแบบเร็ว rapid village survey (RVS) ต่อมาได้มีการศึกษาวิธีค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่โดยความร่วมมือของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบต้นทุน-ประสิทธิผลของการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ระหว่างการสำรวจหมู่บ้านแบบเร็วและการค้นหาโดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ คือ การวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเปรียบเทียบทางเลือกโดยวิธีทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านต้นทุนและด้านสิ่งที่ได้ออกมาจากการลงทุน โดยใช้เครื่องมือด้านการวิเคราะห์เปรียบเทียบและประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล ทำการศึกษาไปข้างหน้า เลือกพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่มีข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยาในงานควบคุมโรคเรื้อน ผลการวิเคราะห์ต้นทุนเปรียบเทียบทั้ง 2 วิธี พบว่า ต้นทุนรวมของการค้นหาโดยวิธี RVS สูงกว่าการค้นหาโดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเงิน 3,113.9 บาท พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 3 ราย ขณะที่การค้นหาโดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ต้นทุน-ประสิทธิผลของวิธี RVS เท่ากับ 19,528.9 บาท ส่วนวิธีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถจะประเมินในทางเศรษฐศาสตร์ คำนวณต้นทุนต่อหน่วยไม่ได้ เนื่องจากไม่มีผลผลิต จากการสำรวจทั้ง 2 วิธี ได้มีการตรวจสอบความครอบคลุมของการค้นหาโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยโรคเรื้อน โดยใช้วิธี RVS ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก พื้นที่ทำการสำรวจแบบ RVS ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มส่วนในพื้นที่ทำการสำรวจโดยกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน พบผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ถ้าไม่ถูกค้นพบแล้วเกิดความพิการขึ้น ภาครัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้พิการเหล่านี้ เป็นจำนวนไม่น้อย ควรจะได้มีการศึกษาต่อเนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ในด้านของต้นทุน-อรรถประโยชน์ ซึ่งป้องกันผู้ป่วยโรคเรื้อนไม่ให้เกิดความพิการจากการค้นพบที่ล่าช้าหรือไม่ได้รับการรักษา เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินการควบคุมโรคเรื้อนที่มีประสิทธิภาพต่อไป
 
 
ที่มา
วารสารควบคุมโรค ปี 2557, April-June ปีที่: 40 ฉบับที่ 2 หน้า 111-117
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Leprosy, rapid village survey, The Sub Distrct Headman - the Village Headman