ภาระค่าใช้จ่ายจากการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลชุมชนภายใต้นโยบาย 30 บาท
อภิญญา สัชฌะไชย*, สมพร อินศรีแก้วสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง
บทคัดย่อ
ภายใต้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งรัฐได้จัดสรรงบประมาณเป็นรายหัวตามจำนวนประชากร ให้หน่วยบริการแต่ละพื้นที่รับผิดชอบในลักษณะเหมาจ่ายเฉลี่ยความเสี่ยงไปแล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งจึงต้องบริหารเงินที่ได้รับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 12 แห่ง ภาระการส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลลำปาง จัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายสูง และน่าจะมีผลกระทบต่อการอยู่รอดทางการเงินในระยะยาว จากข้อมูลของโรงพยาบาลลำปางในปี 2545 ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิโครงการหลักประกันสุขภาพมีสัดส่วนร้อยละ 70.04 ของผู้ป่วยในทั้งหมด เป็นผู้ป่วยจากต่างอำเภอซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลชุมชนโดยตรง รวม 17,441 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.40 จำแนกเป็นกลุ่มที่มีค่าน้ำหนัก RW < 0.5 ร้อยละ 25.88 และ RW 0.5 - < 2.5 ร้อยละ 69.58 โรคที่พบในกลุ่ม RW < 0.5 ส่วนใหญ่หน้าที่โรงพยาบาลชุมชนจะดูแลได้เองตามศักยภาพที่ควรจะมีอยู่ เช่นเดียวกับบางส่วนของโรคในกลุ่ม RW 0.5 - < 2.5 โดยเฉพาะที่ไม่ใช่โรคทางศัลยกรรม และกลุ่มโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย/โรคระยะสุดท้าย จึงควรที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งจะพยายามลดการส่งต่อที่ไม่จำเป็นโดยใช้กลยุทธ์ เช่น การจัดทำ CPG ที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลลำปาง การประสานกับโรงพยาบาลลำปางในการส่งผู้ป่วยกลับ การให้ความสำคัญกับการชี้แจงผู้ป่วยและญาติอย่างจริงจัง รวมถึงการติดตามผลการรักษาจากโรงพยาบาลลำปาง เพื่อจะรู้ปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย และวางแผนดูแลต่ออย่างเหมาะสมใกล้บ้านเอง ทั้งนี้การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลชุมชน นอกจากช่วยลดภาระการตามจ่ายเงินให้โรงพยาบาลลำปางทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่ RW < 0.5 แล้ว ยังเพิ่มส่วนแบ่งรายรับสำหรับผู้ป่วยในกลุ่ม RW 0.5 – < 2.5 ที่โรงพยาบาลชุมชนรักษาเองในปี 2546 และต่อๆ ไป เป็นการช่วยลดทั้งภาระงานของโรงพยาบาลลำปาง และค่าใช้จ่ายในภาพรวมของโครงการ 30 บาท รวมทั้งต้นทุนของผู้ป่วยและครอบครัวในการแสวงหาการรักษาข้ามเขตที่ไม่จำเป็นด้วย
ที่มา
ลำปางเวชสาร ปี 2546, January-April
ปีที่: 24 ฉบับที่ 1 หน้า 1-12
คำสำคัญ
patient referral expense, ค่าใช้จ่ายกลุ่มผู้ป่วยส่งต่อ