ต้นทุนต่อวันสำหรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง
อุทุมพร วงษ์ศิลป์*, ถาวร สกุลพาณิชย์, สันติ ลาภเบญจกุล, ดิชพงศ์ พงศ์ภัทรชัย
สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาต้นทุนเฉลี่ยต่อวันของการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่บ้านในมุมมองของรัฐซึ่งจ่ายเงินเพื่อให้เกิดกิจกรรมนี้ บริการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมบริการของโรงพยาบาล กิจกรรมบริการของผู้ดูแลที่จ้างโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกิจกรรมของญาติที่บ้าน โดยต้นทุนบริการจากโรงพยาบาลได้ใช้วิธีการปรับปรุงบัญชีต้นทุนของโรงพยาบาลลำสนธิที่ดำเนินการตามแนวทางบัญชีต้นทุนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้วิธีจัดทำบัญชีต้นทุนแนวคิดแบบดั้งเดิม (Traditional costing method) ส่วนต้นทุนกิจกรรมของผู้ดูแลที่จ้างโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คำนวณจากค่าแรงของนักบริบาล (Care assistant) และต้นทุนกิจกรรมของญาติที่บ้าน คำนวณเป็นค่าเสียโอกาสเท่ากับค่าแรงของนักบริบาลในเวลาที่เท่ากัน ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องข้อมูลสถิติและระยะเวลา จึงเลือกใช้สัดส่วนภาระงานจากการแจกแจงเวลาของนักกายภาพบำบัดที่ทำงานหลักในการให้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มี่ภาวะพึ่งพิงเป็นตัวกระจายต้นทุนรวมของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เข้าสู่ผลผลิตบริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 3 ระดับ คือ พึ่งพิงมาก ปานกลาง และน้อย ผลการศึกษาพบว่า  ต้นทุนรวมของโรงพยาบาลลำสนธิ สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงของปีงบประมาณ 2555 มีต้นทุนรวม 4,511,700 บาท และต้นทุนรวมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในส่วนเงินเดือนของนักบริการเท่ากับ 420,000 บา เมื่อพิจารณาต้นทุนต่อวันสำหรับการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงจำแนกตามระดับภาวะพึ่งพิงที่ไม่รวมค่าเสียโอกาสของญาติ พบว่า การดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงระดับน้อย (Mild) มีต้นทุนเฉลี่ยวันละ 41 บาท ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระดับปานกลาง (Moderate) มีต้นทุนเฉลี่ยวันละ 64 บาท ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระดับมาก (Severe) มีต้นทุนเฉลี่ยวันละ 101 บาท และทำ Sensitivity analysis โดยคำนวณต้นทุนต่อวันรวมค่าเสียโอกาสของญาติ เพื่อแสดงค่าใช้จ่ายในกรณีที่ให้นักบริบาลทำหน้าที่ดูแลแทนญาติทั้งหมด โดยใช้ผลการสำรวจสัดส่วนเวลาของญาติและนักบริบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงของ ศิริพันธุ์ สาสัตย์และคณะ พบว่า ต้นทุนการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระดับปานกลาง (Moderate) มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มเป็นวันละ 128 บาท ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงระดับมาก (Severe) มีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 200 บาท ทั้งนี้ ต้นทุนการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงขึ้นกับระดับภาวะพึ่งพิงและระยะเวลาที่ญาติสามารถช่วยดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง นอกจากนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในระดับมาก แม้จะใช้บริการนักบริบาลทั้งหมด ต้นทุนยังต่ำกว่าการใช้สถานบริบาลถึงประมาณ 5 เท่า อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์เพียงพื้นที่เดียวและเป็นการศึกษาย้อนหลังมีข้อมูลสถิติจำกัด จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2557, October-December ปีที่: 8 ฉบับที่ 4 หน้า 344-354
คำสำคัญ
elderly, ผู้สูงอายุ, Costing, Level of dependence, Care assistant, ต้นทุนต่อวัน, ระดับการพึ่งพิง, นักบริบาล