ผลของการให้ข้อมูลอย่างมีแบบแผนต่อระดับความปวดและความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งช่องปาก ณ หอผู้ป่วย หู คอ จมูก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
อมรรัตน์ โสตถิฤทธิ์*, นารี ปานทอง
หอผู้ป่วยหู คอ จมูก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
        การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับความปวดและความพึงพอใจของผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งช่องปากในหอผู้ป่วย หู คอ จมูก โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2554 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 จำนวน 64 ราย สุ่มตัวอย่างด้วยการจับฉลากเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 32 ราย กลุ่มทดลองได้รับข้อมูลอย่างมีแบบแผนตามคู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดในช่องปาก ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลการเตรียมตัวผ่าตัดตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ 4 ชุด ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบบันทึกข้อมูลความเจ็บป่วย 3) แบบประเมินความปวด และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการความปวด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ คู่มือการปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาความปวดหลังผ่าตัดในช่องปาก ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยงของแบบประเมิน ความพึงพอใจต่อการจัดการความปวด ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.94 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติในการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มโดยใช้ไคสแคร์ ค่าที่อิสระที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมีลักษณะทั่วไปและข้อมูลความเจ็บปวดที่ใกล้เคียงกันทั้ง เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ประวัติการผ่าตัด ความปวดและการจัดการความปวดก่อนผ่าตัด ชนิดของมะเร็งช่องปาก วิธีการผ่าตัดและระยะเวลาผ่าตัด (P>0.05) กลุ่มทดลองมีความปวดหลังผ่าตัดเฉลี่ยในขณะเคลื่อนไหวและขณะพักเมื่อครบ 24, 48 และ 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) และกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจต่อการจัดการความปวดเมื่อครบ 72 ชั่วโมงหลังผ่าตัดมากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้คือ ควรนำรูปแบบการให้ข้อมูลย่างมีแบบแผนเกี่ยวกับการจัดการความปวดไปใช้กับผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ ทางหู คอ จมูก กลุ่มอื่นๆ ด้วย 
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2557, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 160-171
คำสำคัญ
post-operative pain, patient satisfaction, ความพึงพอใจ, ความปวดหลังผ่าตัด, pain intensity, Patterned information, Oral-cavity cancer, การให้ข้อมูลอย่างมีแบบแผน, มะเร็งช่องปาก