การศึกษาเปรียบเทียบความเพียงพอของเนื้อเยื่อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาระหว่างการขูดมดลูกโดยใช้ manual vacuum aspiration (MVA) กับอุปกรณ์ขูดมดลูกชนิดโลหะ
สิรยา กิติโยดม
Department of Obstetrics and Gynecology, Maharat Nakhon Ratchasima Hospital, Nakhon Ratchasima 30000, Thailand; Phone & Fax: +66-44-235042; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความเพียงพอของเนื้อเยื่อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาและระดับความปวดจากการขูดมดลูก ระหว่างวิธี MVA และการใช้อุปกรณ์ขูดมดลูกชนิดโลหะ
รูปแบบการศึกษา: การศึกษาเชิงทดลองทางคลินิก
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาในสตรีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มาตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกนรีเวชโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ด้วยภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก และได้รับการขูดมดลูกเพื่อวินิจฉัย ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2557 แบ่งผู้ป่วยเป็นสองกลุ่ม โดยการสุ่มผู้ป่วยกลุ่ม ทดลองได้รับการขูดเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยวิธี MVA และกลุ่มควบคุมได้รับการขูดมดลูกด้วยอุปกรณ์ขูดมดลูกชนิดโลหะ เนื้อเยื่อจากทั้งสองวิธีถูกส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อการวินิจฉัย ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
ได้รับการประเมินความปวดด้วย visual analogue scale ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ และ Chi-square
ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบว่า ความเพียงพอของเนื้อเยื่อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาในกลุ่มทดลองไม่แตกต่างจากในกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 87.88 และ 90.91 ตามลำดับ p-value = 0.572) จำนวนสตรีในกลุ่มทดลองมีอาการปวดอยู่ในระดับปวดมากน้อยกว่ากลุ่มควบคุม มีความเสี่ยงสัมพันธ์เท่ากับ 0.47 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เท่ากับ 0.30-0.72)
สรุป: การขูดมดลูกโดยวิธี MVA มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับการขูดมดลูกโดยอุปกรณ์โลหะ ในแง่ของความเพียงพอของชิ้นเนื้อ เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา แต่ก่อให้เกิดอาการปวดน้อยกว่า การศึกษาเปรียบเทียบเพิ่มเติมในปัจจัยอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับความปวด การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ระหว่างทั้งสองวิธี จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยนรีเวชกลุ่มนี้ต่อไป
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, June ปีที่: 98 ฉบับที่ 6 หน้า 523-527
คำสำคัญ
pain, Manual vacuum aspiration (MVA), Metal uterine curette, Endometrial adequacy