ผลของโปรแกรมการจัดการความเครียดต่ออาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภท
พรทิพย์ ไขสะอาด, เพ็ญนภา แดงต้อมยุทธ์*
คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: 1) เพื่อเปรียบเทียบอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการจัดการความเครียด 2) เพื่อเปรียบเทียบอาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการความเครียดกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดสองครั้งก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 40 คน ซึ่งได้รับการจับคู่แล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมการจัดการความเครียดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม 6 ครั้ง ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องความเครียดและฝึกทักษะการผ่อนคลาย การเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย การจัดการความเครียดที่เกิดจากการรับประทานยา การจัดการกับอาการทางจิต การแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน และการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) โปรแกรมการจัดการความเครียด 2) แบบประเมินอาการทางจิต Positive and Negative Syndrome Scale และ 3) แบบประเมินทักษะการจัดการความเครียด ซึ่งเครื่องมือได้ผ่านการทดสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน และเครื่องมือ 2 ชุดหลัง มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบราคเท่ากับ .82 และ .78 ตามลำดับ
ผลการศึกษา: ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. อาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทหลังได้รับโปรแกรมการจัดการความเครียด ต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการจัดการความเครียด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. อาการทางจิตของผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการความเครียด ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
 
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2557, January-April ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 43-55
คำสำคัญ
Schizophrenia, ผู้ป่วยจิตเภท, Stress management program, Psychotic symptoms, โปรแกรมการจัดการความเครียด, อาการทางจิต