ความสัมพันธ์ระหว่างอาการ การสนับสนุนทางสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายภาคใต้ขณะได้รับรังสีรักษา
สุชาดา ธราพร*, สุรีพร ธนศิลป์โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอาการ กลวิธีการจัดการกับอาการ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายขณะได้รับรังสีรักษา และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาการ การสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายขณะได้รับรังสี
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายขณะได้รับรังสีรักษา ณ ศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี คัดเลือกตามสะดวก จำนวน 130 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามอาการ แบบสอบถามกลวิธีการจัดการกับอาการ แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมและแบบสอบถามคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่ได้รับรังสีรักษา มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ .80, .87, .80 และ .81 ตามลำดับ มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .80, .75, .80, และ .71 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัย: 1) อาการน้ำลายเหนียว/ คอแห้ง มีความถี่และความรุนแรงของอาการมากที่สุด โดยจัดการกับอาการด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก การใช้ยาแก้ปวด และการใส่สายให้อาหาร มากที่สุด 2) คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายภาคใต้ขณะได้รับรังสีรักษาอยู่ในระดับสูง (x-bar = 2.90, SD = .52) 3) ความถี่และความรุนแรงของอาการมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำและระดับปานกลางกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายภาคใต้ขณะได้รับรังสีรักษา (r = .28, r = -.38, p < .05) และ 4) การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอเพศชายภาคใต้ขณะได้รับรังสีรักษา (r = .13, p < .05)
สรุป: อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในด้านร่างกายมากที่สุด ดังนั้น พยาบาลจึงควรมีการพัฒนากลวิธีการจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่เกิดในช่องปากที่มีทั้งความรุนแรงและความถี่ โดยให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม โดยเริ่มตั้งแต่ก่อน ขณะ และหลังสิ้นสุดการรักษา เพื่อให้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2557, May-August
ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 135-148
คำสำคัญ
Quality of life, Radiation, คุณภาพชีวิต, Social support, การสนับสนุนทางสังคม, รังสีรักษา, คุณภาพชี่วิต, Symptoms, Head and neck cancer patients, อาการ, ผู้ป่วยมะเร็งศีระษะและคอ