การศึกษาผลกระทบของภาวะท้องผูกเรื้อรังที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต
วุฒิพงษ์ อัศวเพชรกุล*, สุเทพ กลชาญวิทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทคัดย่อ
ที่มาของการศึกษา: อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไทย มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 24 ของประชากรชาวไทยคิดว่าตนเองมีปัญหาท้องผูก ดังนั้นอาการท้องผูกจึงถือเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาการท้องผูกส่วนใหญ่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายถึงชีวิต แต่ก็มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากโดยเฉพาะในรายที่เป็นรุนแรง ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อภาวะท้องผูกในคนไทย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลกระทบของภาวะท้องผูกเรื้อรังที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ของผู้ป่วยไทยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เช่น ทางด้านการทำงานในกิจวัตรประจำวัน ปัญหาทางด้านอารมณ์ เป็นต้น เพื่อที่จะเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้มีภาวะท้องผูกเรื้อรังว่าแตกต่างจากคนปกติที่ไม่มีท้องผูกอย่างไร
วิธีการศึกษา: การศึกษาใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวัดผลคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามโดยใช้ short form-36 (SF-36) โดยศึกษาในผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกและไม่มีท้องผูกจำนวน 200 ราย ที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผลการศึกษา: จากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง วัยกลางคน อาชีพข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ การศึกษาปริญญาตรี จากแบบสอบถาม SF-36 พบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูกมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะท้องผูก โดยเฉพาะใน physical component score (PCS) (71.1±1.1 และ 80.8±1.4, P < 0.05) และปัจจัยทางด้านเพศพบว่ามีผลต่อผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูก โดยมีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าในผู้ที่ไม่มีภาวะท้องผูกทั้งด้าน physical component score (PCS) และ mental component score (MCS)
บทสรุป: จากการศึกษาพบว่า เพศมีผลต่อผู้ที่มีภาวะท้องผูกและผู้ไม่มีภาวะท้องผูก โดยพบว่ามีความแตกต่างของคุณภาพชีวิตทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นผู้ที่มีท้องผูกควรได้รับการรักษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ที่มา
จุฬาอายุรศาสตร์ ปี 2558, January-March
ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 1-13