คุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก: เปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลศูนย์สี่แห่ง ในสี่ภาคของประเทศไทย
ธัชกร รุ่งโรจน์, นรงฤทธิ์ เกษมทรัพย์*, สมศักดิ์ เทียมเก่า
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น 40002
บทคัดย่อ
บทนำ: โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (hemifacial spasm) ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านจิตใจแก่ผู้ป่วย แม้ว่าปัจจุบันการรักษาโดยการฉีดยาโบทูไลนุ่มท็อกซินชนิดเอจะได้ผลดี แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
วัตถุประสงค์: ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกระหว่างโรงพยาบาลศูนย์สี่แห่งในสี่ภาคของประเทศไทย และปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: การศึกษาแบบ cross-sectional study โดยศึกษาผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก จาก
โรงพยาบาลศรีนครินทร์, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่และสถาบันประสาทวิทยา โดยใช้แบบสอบถาม 2 ส่วนคือแบบสำรวจสุขภาพเฉพาะโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก-30 ฉบับภาษาไทย (Thai HFS-30) และ แบบสำรวจสุขภาพทั่วไป-36 (SF-36)
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 391 คน เปรียบเทียบกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการรักษาโดยการฉีดยาโบทูไลนุ่มท็อกซินชนิดเอ(96 ราย) กับกลุ่มที่เคยได้รับการรักษา (295 ราย) พบว่า ระยะเวลาก่อนได้รับการรักษา สภาพจิตใจ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ p-value เท่ากับ 0.000 และ 0.004 ตามลำดับและคุณภาพ ชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มแรกดีกว่ากลุ่มที่สองอย่างมีนัยสำคัญ p-value เท่ากับ 0.040 สำหรับปัจจัยอื่นคือ โรคประจำตัว และระดับความรุนแรงของโรคไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ
สรปุ : กลุ่มที่ไม่เคยได้รับการรักษาโดยการฉีดยาโบทูไลนุ่มท็อกซินชนิดเอมีคุณภาพชีวิต ที่ดีกว่ากลุ่มที่เคยได้รับการรักษา นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างกันคือสภาพจิตใจซึ่งควรจัดให้เน้นการให้คำ ปรึกษาความรู้และรักษาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยโรคนี้
 
ที่มา
KKU Journal of Medicine ปี 2558, April-June ปีที่: 1 ฉบับที่ 2 หน้า 28-34
คำสำคัญ
Quality of life, Botulinum toxin A, Hemifacial spasm, โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก, โบทูไลนุ่มท็อกซินชนิดเอ