ผลของการฝึกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมือ
ทิพยรัตน์ ศฤงคารินกุล*, พรทิพย์พา ธิมายอม
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาผลของการฝึกโดยใช้เครื่องมือฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมือ (AT = Bi-Manu track) ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะพ้นเฉียบพลันที่มีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก
รูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงทดลอง
สถานที่ทำการวิจัย: สถาบันประสาทวิทยา
กลุ่มประชากร: ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกโดยมีคะแนนความสามารถในการเคลื่อนไหว [FM UE] ≤27 จำนวน 20 ราย
วิธีการศึกษา: เปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ได้รับโปรแกรมทางกิจกรรมบำบัดทั่วไป [OT] อย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์และกลุ่มทดลองที่ได้รับการฝึกเพิ่มด้วยเครื่องฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมืออีกวันละ 30 นาที [OT+AT] ใน 3 ด้าน คะแนนความสามารถในการเคลื่อนไหว [FM UE 0-66] คะแนนความสามารถในการทำกิจกรรม [MFT 0-32] และการทดเกร็งของกล้ามเนื้อ [MAS 0-4]
ผลการศึกษา: ผลคะแนนความสามารถในการเคลื่อนไหวและความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังได้รับโปรแกรมการฝึกทั้งในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: การฝึกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยเครื่องฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและมือไม่ได้ผลแตกต่างกันกับการฝึกด้วยโปรแกรมการฝึกทางกิจกรรมทั่วไป อย่างไรก็ดีควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2555, April-June ปีที่: 35 ฉบับที่ 2 หน้า 79-85
คำสำคัญ
Stroke, โรคหลอดเลือดสมอง, Hemiparesis, subacute, robotics, upper limbs, motor function, activity function, ภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก, เครื่องฝึกการเคลื่อนไหวของแขนและเมือ, ความสามารถในการเคลื่อนไหว, ความสามารถในการทำกิจกรรม