ผลของการจัดการฝีเย็บต่อการบาดเจ็บและความเจ็บปวดของช่องทางคลอดในผู้คลอดครั้งแรก
อำภาพร ผิวอ่อน*, ฉวี เบาทรวง, นันทพร แสนศิริพันธ์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่
บทคัดย่อ
สตรีครรภ์แรกที่คลอดทางช่องคลอดส่วนใหญ่มักเกิดการบาดเจ็บและความเจ็บปวดของช่อง ทางคลอด เนื่องจากการฉีกขาดที่เกิดขึ้นเองหรือการตัดฝีเย็บ พยาบาลผดุงครรภ์มีบทบาทสำคัญใน การลดการบาดเจ็บของช่องทางคลอดจากการคลอดบุตร การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดการฝีเย็บต่อการบาดเจ็บและความเจ็บปวดของช่องทางคลอดในสตรีที่ คลอดบุตรครั้งแรก กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้คลอดครั้งแรกที่มาคลอด ณ ห้องคลอด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ ระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดและ สุ่มอย่างเป็นระบบจำนวน 52 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละเท่าๆ กัน โดยกลุ่ม ทดลองได้รับการจัดการฝีเย็บ และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการจัดการฝีเย็บที่พัฒนาโดยผู้วิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินการ บาดเจ็บของช่องทางคลอดและแบบประเมินความเจ็บปวดในการคลอดชนิดเป็นตัวเลข วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติพรรณนา การทดสอบไคสแควร์ และ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบผสม
ผลการวิจัยพบว่า
ผู้คลอดครั้งแรกในกลุ่มทดลองมีการบาดเจ็บของช่องทางคลอดแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) แต่มีความเจ็บปวดของฝีเย็บไม่แตกต่างกัน (p>0.05) ผลการวิจัยนี้ เสนอแนะว่า พยาบาลผดุงครรภ์ควรนำการจัดการฝีเย็บไปใช้ในการลดการบาดเจ็บของช่องทางคลอด ในการคลอดบุตร เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพในการดูแลทางการผดุงครรภ์สำหรับผู้คลอดต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2558, April-June
ปีที่: 42 ฉบับที่ 2 หน้า 93-103
คำสำคัญ
pain, Perineal pain, Perineal Management, Genital Tract Trauma, Midwifery, การจัดการฝีเย็บ, การบาดเจ็บของช่องทางคลอด, ความเจ็บปวดของฝีเย็บ, การผดุงครรภ์